เตือนฤดูร้อนระวัง "โรคไข้แดดในเด็ก" อาการไข้สูง อาเจียน เบื่ออาหาร แนะวิธีการดูแลป้องกัน
3 เม.ย. 2566, 17:21
3 เม.ย. 2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนไทยจะมีอุณหภูมิสูง 35-40 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว หากปนเปื้อนอาหารจะทำให้บูดเสียง่าย
ขณะที่ นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า เด็กมีภูมิต้านทานไม่มากนัก จึงมักเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจสุขภาพของบุตรหลาน หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
โดยเฉพาะโรคไข้แดด เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ช่วงหน้าร้อน ซึ่งอุณหภูมิภายนอกสูง อาการแสดงของโรคถูกกระตุ้นจากอากาศที่ร้อน ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย อาจมีอาการไข้สูงอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว บางรายอาจมีตาแดง
วิธีการดูแลป้องกัน คือ 1. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง 2.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดต่อวันให้เพียงพอ เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อ