นายกฯ ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศไทย ตั้งเป้า 10 ปี สร้างมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
10 เม.ย. 2566, 08:17
วันที่ 10 เมษายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนแผนความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency: NIA) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency: GISTDA) ของประเทศไทย ร่วมกับ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการด้านอวกาศขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส พัฒนาองค์ความรู้ และเครือข่ายพัฒนาสตาร์ทอัพอวกาศและเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) ของไทย ให้เติบโตสู่ตลาดโลก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้กิจการทางอวกาศเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีพระราชบัญญัติกิจการอวกาศเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่จะช่วยส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย ตลอดจนดูแลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ เพิ่มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ การลงทุน รายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ โดยประเทศไทยเตรียมการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศ ผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งในปี 2566 นี้ ถือเป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยสามารถดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศ บริษัทขนาดใหญ่ มาช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจ และร่วมลงทุนเพื่อสร้างสตาร์ทอัพของไทยได้ เกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศประเทศไทย โดยมีแผนเริ่มโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน (F1 Aviation and Spacetech Incubator and Accelerator programme) ซึ่งปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านอวกาศกว่า 8 สาขา ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ ระบบการขนส่งทางอากาศที่ในระดับความสูงต่ำ การบินภูมิภาค ซูเปอร์โซนิค ระบบการส่งอวกาศ ดาวเทียม การสำรวจอวกาศ และระบบป้องกัน โดยคาดว่าความร่วมมือในการพัฒนากิจการทางอวกาศนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 3 แสนล้านบาท และคาดว่าจะสามารถผลิตสตาร์ทอัพด้านอวกาศในประเทศไทยเพิ่มกว่า 100 ราย ใน 10 ปี ข้างหน้า
“นายกรัฐมนตรีส่งเสริมแผนความร่วมมือด้านกิจการอวกาศของประเทศไทยกับต่างประเทศ ที่จะก่อให้เกิด ความร่วมมือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนมูลค่าการลงทุนสตาร์ทอัพมหาศาล ทั้งนี้รัฐบาลเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของกิจการอวกาศในประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูง และสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จากเทคโนโลยีดังกล่าว” นายอนุชาฯ กล่าว