ครม.รับทราบสถานการณ์การพัฒนากระบวนการบริหารงานยุติธรรมไทย
11 เม.ย. 2566, 15:54
วันนี้ ( 11 เม.ย.66 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 11 เม.ย. 66 ได้รับทราบถึงสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาด้านการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมในระยะที่ผ่านมา ตามรายงานประจำปีงบประมาณ 2565 ของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.)
ทั้งนี้ กพยช. รายงานว่าในช่วงปี 2562-64 ภาพรวมกระบวนการยุติธรรมไทยมีจำนวนคดีที่แจ้งความ 1,923,542 คดี จำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ในช่วง 3 ปีดังกล่าวรวม 1,883,193 คน มีคดีอาญาเข้าสู่การพิจารณา 1,642,011 คดี และคดีเสร็จไปของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร 1,490,814 คดี ส่วนคดีด้านปกครองนั้น มีสถิติคดีเข้าสู่ศาลปกครองชั้นต้นรวม 24,180 คดี และคดีแล้วเสร็จ 20,159 คดี
สำหรับจำนวนผู้ที่อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด 814,905 คน ผู้ต้องขัง (อยู่ระหว่างการอุทธรณ์-ฎีกา-ไต่สวน-พิจารณาและสอบสวน) 166,899 คน และพบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำหลังจากได้รับการปล่อยตัวในปีแรก 92,288 คน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของ กพยช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. 6 คณะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานบริหารกระบวนการยุติธรรมของประเทศ อาทิ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประวัติอาชญากรรม พ.ศ....เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติสุข โดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานหรือสถานประกอบการที่ตรงกับความสามารถหลังการพ้นโทษแล้ว การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง พ.ศ.... เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำ ชดเชยเยียยาผลร้ายแห่งการกระทำแก่ผู้เสียหายในชั้นแรก และเปิดโอกาสให้รับฟังความเห็นจากผู้เสียหายอันนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่กรณี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม
การจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2566-69 ประกอบด้วย 5 กรอบ ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา, ทางแพ่ง ปกครอง, เพื่อพัฒนากฎหมาย, เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม
ทางด้านสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของ กพยช. ก็ได้ดำเนินการที่่ส่งผลสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ การจัดทำสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมประจำปี พัฒนาระบบการใช้มาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัว การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม การขับเคลื่อนงานในมิติเชิงพื้นที่ เป็นต้น