เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สิ้นแล้ว ! "ทองร่วง เอมโอษฐ" ศิลปินแห่งชาติ ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชร ในวัย 80 ปี


13 เม.ย. 2566, 10:14



สิ้นแล้ว ! "ทองร่วง เอมโอษฐ" ศิลปินแห่งชาติ ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชร ในวัย 80 ปี




เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 รายงานข่าวแจ้งว่า นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2554 เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 00.10 น.

ด้าน นางบุญเจือน เอมโอษฐ ภรรยาช่างทองร่วง เอมโอษฐ เปิดเผยว่า นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) ปี พ.ศ.2554 ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 00.10 น. เสียชีวิตด้วยอาการสงบที่บ้านพักตำบลช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี สิริอายุได้ 80 ปี



โดยก่อนหน้านี้ช่างทองร่วง เอมโอษฐ มีอาการอ่อนเพลีย จุกเสียดแน่นท้อง ไม่อยากรับประทานอาหารเป็นเวลาหลายวัน กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 12 เมษายน 2566 มีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ครอบครัวจึงได้พาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี แพทย์ได้ทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าต่างๆ ในร่างกาย พบค่าตับสูงกว่าปกติ

กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ช่างทองร่วงมีความประสงค์ขอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านพักในตำบลช่องสะแก จนกระทั่งเวลา 00.10 น. ของวันที่ 13 เมษายน 2566 ช่างทองร่วง เอมโอษฐ ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบ เบื้องต้นทางครอบครัวมีความประสงค์ประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมที่บ้านพักตำบลช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี


สำหรับ นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) ประจำปี พ.ศ.2554 เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2486 ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ 2 ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสําลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ ชาวจังหวัดเพชรบุรี

นายทองร่วง เอมโอษฐ เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรี และต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคม โดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

นอกจากนี้ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่างๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้นๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับสังคม ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายทองร่วง เกิดที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายยศ นางสำลี เอมโอษฐ์ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดโตนดราย อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หลังย้ายไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี นายทองร่วง หัดเขียนลายไทยกับพระมหาเสวก จันทร์แดง ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เรียนงานปูนปั้นกับอาจารย์พิน อินฟ้าแสง เรียนเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังกับอาจารย์อาภรณ์ อินฟ้าแสง จนชำนาญ

นายทองร่วง สร้างสรรค์ผลงานมากมาย อาทิ งานปูนปั้นหน้าบันศาลาการเปรียญด้านทิศใต้ วัดเขาบันไดอิฐ ซุ้มประตู หน้าต่างวัดชีว์ประเสริฐ ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบุรี วัดพลับพลาชัย วัดมหาธาตุวรวิหาร งานซ่อมแซมบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ผลงานส่วนใหญ่มักสอดแทรกแง่คิดหรือเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นไว้ด้วย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.