เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ. ห่วง 13 เม.ย. เป็นวันเสียชีวิตสูงสุดของช่วง "สงกรานต์" จากเมาแล้วขับ


13 เม.ย. 2566, 15:04



สธ. ห่วง 13 เม.ย. เป็นวันเสียชีวิตสูงสุดของช่วง "สงกรานต์" จากเมาแล้วขับ




วันนี้ ( 13 เม.ย.66 ) นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับทุกกรม เขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และกำชับข้อสั่งการของ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรณีการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในช่วง 7 วันเทศกาลสงกรานต์ ทั้งการเตรียมความพร้อมดูแลรักษาประชาชนในสถานพยาบาล ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ เน้นดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม เพื่อป้องกันและลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้มากที่สุด รวมถึงให้ อสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดกรองผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับที่ด่านชุมชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในวันเฉลิมฉลอง 13 และ 14 เมษายน 2566

“อุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่มักเกิดในถนนสายรอง โดยพบผู้เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับมากที่สุดในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งด่านชุมชนเป็นจุดที่ช่วยสกัดกั้นผู้ที่ดื่มไม่ให้ออกไปขับขี่ได้มากกว่าครึ่งโดยใช้แนวทางสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้นที่ช่วยคัดกรองได้ 50-70% นอกจากนี้ ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งดูระบบรักษาความปลอดภัย ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ระบบสัญญาณแจ้งเหตุ ระบบดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้ผู้บริหารอยู่ในพื้นที่เพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน” นายแพทย์ณรงค์กล่าว

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พบว่า มีแนวโน้มลดลงในภาคกลาง กทม. ปริมณฑล และตะวันออก โดยคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมากถึงปานกลาง แต่ต้องเฝ้าระวังช่วงวันที่ 14-15 เมษายน 2566 ที่อาจมีสภาพอากาศปิด ส่วนภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังพบจุดความร้อน คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) จนถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตก 10-40% ระหว่างวันที่ 15-17 เมษายน 2566 ซึ่งจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงได้ ส่วนสถานการณ์ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ที่มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดำเนินการตามข้อสั่งการและ 3 มาตรการ 10 กิจกรรมอย่างครบถ้วน ทั้งสื่อสารสร้างความรอบรู้ แจ้งเตือนระดับความเสี่ยงและแนวทางปฏิบัติ การเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัดและระดับอำเภอ สนับสนุนหน้ากากสำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย กลุ่มเปราะบาง และประชาชนทั่วไป

“จากการติดตามการให้บริการด้านการแพทย์ พบว่า มีการจัดระบบปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยทีม 3 หมอ อสม.เคาะประตูบ้าน เยี่ยมกลุ่มเสี่ยง และเปิดคลินิกมลพิษ โดยเชียงใหม่เปิดให้บริการที่ รพ.นครพิงค์ รพ.สันป่าตอง รพ.สันทราย และ รพ.แม่วาง ซึ่ง รพ.นครพิงค์เปิดแบบออนไลน์ร่วมด้วย ส่วนการทำห้องปลอดฝุ่น จังหวัดเชียงรายจัดทำในสถานบริการสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และ อปท. รวม 580 ห้อง ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำในโรงพยาบาล/สถานบริการสาธารณสุข อาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ หน่วยงานสังกัด อปท. และภาคเอกชน รวม 590 ห้อง และจะขยายไปสู่ภาคเอกชนให้มากขึ้น” นายแพทย์ณรงค์กล่าว









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.