ทล. เล็งใช้กองทุนมอเตอร์เวย์ 3 หมื่นลบ. ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน
14 เม.ย. 2566, 11:54
นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงระหว่างเมือง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง ได้วางแผนการบริหารรายได้กองทุนมอเตอร์เวย์ โดยจะใช้ลงทุนก่อสร้างเส้นทางต่อไป คือ มอเตอร์เวย์สาย 5 หรือ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท (ค่างานโยธา 30,125 ล้านบาท ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,155 ล้านบาท) โดยการออกแบบรายละเอียด (Detail& Design) เสร็จแล้ว รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับการอนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ จะดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชนและรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ โดยจะเริ่มจ่ายค่างานโยธาเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 2 ม.ค.66 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571 โดยก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ก่อสร้างตามแนวถนนพหลโยธิน
นายธนศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อแล้วเสร็จ โครงการจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน และเติมเต็มโครงข่ายถนนสายหลัก (Missing Link) ตอนบนของกรุงเทพฯ กับจังหวัดใกล้เคียง และเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง-บางปะอิน เพิ่มศักยภาพในการรองรับ และเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างสมบูรณ์
ปัจจุบัน กองทุนมอเตอร์เวย์ มีรายได้สะสมประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 2 สาย ได้แก่ มอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงกรุงเทพ-พัทยา และมอเตอร์เวย์สาย 9 บางปะอิน-บางนา ประมาณ 20-25 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยรายได้จากกองทุนมอเตอร์เวย์ จะนำไปใช้ในการซ่อมบำรุง ดูแล ปรับปรุงสิ่งอำนวยคสามสะดวก ทั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายบอกเส้นทาง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย กล้อง CCTV อุปกรณ์กู้ภัย และมีหน่วยกู้ภัยให้บริการตลอด 24 ชม.
นอกจากนี้ ยังนำไปพัฒนาก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์เพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมา ใช้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธา มอเตอร์เวย์สาย 7 (สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง) ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว และโครงการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สาย 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทางรวม 16.4 กม. วงเงินก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ ก.พ.65 – ปี 68)