นายกฯ ยินดี ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์การค้า ภายใต้กรอบความตกลง FTA ม.ค.66 สูง 5.4 พันล้านดอลลาร์
18 เม.ย. 2566, 10:46
วันนี้(18 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่การใช้สิทธิประโยชน์ จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี 12 ฉบับ ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ผลักดันให้มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เดือนมกราคม 2566 มูลค่าส่งออก 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 12 ฉบับ ในเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 5,399.38 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ กว่า 71.79% โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ในกรอบความมือสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 68.74% มูลค่าการส่งออก 3,026.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการใช้สิทธิ 2,081.46 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสินค้าจำพวก ยานยนต์สำหรับขนส่งของ น้ำตาล รถยนต์ส่วนบุคคล (1,500-3,000 ซี.ซี.) และน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส อันดับ 2. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 78.53% อาทิ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้สดอื่นๆ และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง รวมมูลค่าการใช้สิทธิ 1,208.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 3. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 72.97% ในสินค้าจำพวก รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500 ซี.ซี.ขึ้นไปและขนาด 1,000-1,500 ซี.ซี. ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และปลาทูน่าปรุงแต่ง อันดับ 4. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 75.05% ในสินค้าจำพวก เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็น เดกซ์ทริน และโมดิไฟด์สตาร์ช และกระสอบและถุงทำด้วยพลาสติก รวมมูลค่าการใช้สิทธิ 487.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.65% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าสูง และ สารประกอบออร์แกโนอินออร์แกนิกอื่นๆ ลวดทองแดง โพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์หรือของฮาโลเจเนเต็ดโอลีฟิน ในลักษณะขั้นปฐมภูมิ รวมมูลค่าการใช้สิทธิ 400.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ยังมีกรอบความตกลง FTA เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ที่สร้างมูลค่าการส่งออกมหาศาลเช่นกัน
"นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ผลักดันส่งเสริมความร่วมมือทางก้านการค้า การใช้สิทธิประโยชน์ในการค้า ตามกรอบความร่วมมือที่รัฐบาลได้ผลักดันจนเกิดการลงนามไว้หลายฉบับ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นในการเจรจากรอบความตกลงฯ เพื่อประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง เชื่อมั่นว่าในภายหน้า จะมีกรอบความร่วมมือที่บรรลุวัตถุประสงค์จากการเจรจาที่ผ่านมาอีกมาก ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือด้านอื่นที่ไทยมีศักยภาพ" นายอนุชาฯ กล่าว