บกปภ.ช.ติดตามสถานการณ์อุทกภัย กำชับเร่งฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ส่งปชช.กลับบ้านปลอดภัย
2 ต.ค. 2562, 20:18
วันนี้ (2 ต.ค.62) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ
ล่าสุดยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำลดลงอยู่ในระดับเสมอตลิ่งแล้ว ขณะที่อำเภอวารินชำราบ ระดับน้ำยังคงสูงกว่าระดับตลิ่ง 41 เซนติเมตร คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเสมอระดับตลิ่งในอีก 1-2 วันนี้ ในส่วนของประชาชนในจุดอพยพของจังหวัดอุบลราชธานี จาก 64 จุด ประชาชนได้ทยอยกลับบ้านแล้ว เหลือจุดอพยพอีก 38 จุด หรือประมาณ 6,254 คน คาดว่าในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ประชาชนจะกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยได้ทั้งหมด
สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลด บกปภ.ช.ได้ประสานกองบัญชาการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยส่วนหน้าระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเข้าช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนี้ 1. ด้านชีวิต มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รวม 35 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และเงินช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ครบทุกรายแล้ว
2.ด้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายเบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562) มีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 22,473 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง 86 หลัง เสียหายบางส่วน 22,387 หลัง บกปภ.ช.ได้จัดทีมช่างตำบลบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยทหาร ตำรวจ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง และประชาชนจิตอาสาดำเนินการซ่อมแซมไปแล้ว 9,631 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง 8 หลัง และเสียหายบางส่วน 9,623 หลัง โดยส่วนที่เหลือ12,842 หลัง ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนงบประมาณค่าวัสดุในการก่อสร้างบ้าน โดยบ้านที่เสียหายทั้งหลัง วงเงินไม่เกินหลังละ 230,000 บาท เสียหายมาก หลังละไม่เกิน 70,000 บาท เสียหายน้อย หลังละไม่เกิน 15,000 บาท และค่าเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็น เฉพาะที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง และเสียหายมาก หลังละ 5,000 บาท
3. ด้านการประกอบอาชีพ จากการสำรวจเบื้องต้นมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 3,488,021 ไร่ แยกเป็นด้านพืช 3,425,217 ไร่ ด้านประมง 62,804 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 1,933,888 ตัว ได้เร่งรัดให้สำรวจ และจัดทำบัญชีความเสียหาย เบื้องต้นได้จัดทีมนักศึกษาอาชีวะและประชาชนจิตอาสาเข้าดำเนินการซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรกลให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้โดยเร็ว
4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้เส้นทางคมนาคมใช้ได้ทุกเส้นทาง ระบบประปาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนระบบไฟฟ้ายังไม่สามารถจ่ายไฟได้ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 2,931 ราย ในส่วนของพื้นที่อื่นๆ ได้จัดทีมเข้าสำรวจและซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียหาย เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อไปว่า บกปภ.ช. ยังคงระดมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเร่งผลักดันน้ำ และสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงเร่งฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด โดยได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด และส่งกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย