เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.ติดตามคืบหน้าพัฒนาพื้นที่ริมคลอง แก้ไขปัญหารุกล้ำ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย


20 เม.ย. 2566, 15:21



กทม.ติดตามคืบหน้าพัฒนาพื้นที่ริมคลอง แก้ไขปัญหารุกล้ำ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย




วันนี้ ( 20 เม.ย.66 )  เวลา 08.00 น. : นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร  เลขานุการคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการพัฒนาคลอง สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย สำนักงานเขตที่มีพื้นที่ติดริมคลอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) 

ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาว 581 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาว 5,000 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 2.70%  ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10,000 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ความคืบหน้า 6.95% ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10,700 เมตร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ความคืบหน้า 26% (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย.66) สำหรับแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำคลองเปรมประชากร ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบบ้านรุกล้ำ 4,398 หลัง ในพื้นที่ 32 ชุมชน อยู่ในพื้นที่เขต 3 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร กำหนดแผนรื้อย้ายบ้านรุกล้ำตั้งแต่เดือน มี.ค.- ก.ย. 66 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการรื้อถอนสิ่งรุกล้ำน้ำสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากการสำรวจ 50 เขต มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทั้งหมด 11,076หลัง รื้อย้ายแล้ว 2,436 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ 8,640 หลัง (ข้อมูล ณ เดือนมี.ค.66) ด้านผลการดำเนินการติดตามความร่วมมือให้ตรวจสอบอาคารของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีอาคารอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้มีการระบายน้ำเสียเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร จำนวน 19 กระทรวง และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ จำนวน 9 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน จำนวน 657 อาคาร ปัจจุบันหน่วยงานมีหนังสือประสานขอให้สำนักระบายน้ำเข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย และสำนักการระบายน้ำเข้าตรวจสอบแล้ว จำนวน 3 อาคาร หน่วยงานแจ้งว่าอาคารมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามกฎหมายแล้ว จำนวน 65 อาคาร รวมหน่วยงานที่ประสานงานมาแล้ว จำนวน 68 อาคาร 

ในส่วนของการพัฒนาคลองแสนแสบและคลองสาขา ทำการสำรวจและคัดเลือกชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งถังดักไขมัน รวม 26 ชุมชน จาก 21 เขตที่มีพื้นที่ติดริมคลอง ได้ชุมชนต้นแบบ 48 ชุมชน 9,722 ครัวเรือน มีเป้าหมายในการติดตั้งถังดักไขมัน ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 4,487 ถัง ติดตั้งแล้ว 1,313 ถัง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 เม.ย.66) โดยในปีงบประมาณ 2565 ติดตั้งถังดักไขมันจำนวน 2,877 ถัง ทำการประเมินผลการใช้งาน 1,204 ถัง ใช้งานได้ดี 1,196 ถัง ชำรุด 8 ถัง ความคืบหน้าการติดตามการแก้ไขปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียสถานประกอบการในพื้นที่รัศมี 500 เมตร ริมคลองแสนแสบและคลองสาขาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (เฟส 2 : ต.ค.65 - เม.ย.66) สถานประกอบการที่ต้องติดตาม 155 แห่ง ดำเนินการแล้ว 114 แห่ง อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไข 41 แห่ง สำหรับการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในตลาดประเภทที่ 1 (ตลาดที่มีโครงสร้างอาคารและมีใบอนุญาต ของรัฐและเอกชน) จำนวน 145 แห่ง ดำเนินการตามแผนแล้ว 33 แห่ง คิดเป็น 23%

ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร มอบหมายสำนักการระบายน้ำ ประสาน กรมธนารักษ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พอช.)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านรุกล้ำ และเร่งเจรจาทำความเข้าใจกับชุมชนที่รุกล้ำแนวเขื่อนเพื่อทำการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตั้งบ่อดักไขมันภายในชุมชนและบ้านเรือนริมคลองให้มากขึ้นเพื่อลดการปล่อยน้ำเสีย พร้อมทั้งเร่งประสานความร่วมมือการบำบัดน้ำเสียภายในอาคาร สถานที่ราชการ อาคารรัฐวิสาหกิจในพื้นที่กทม. และติดตามการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในตลาดประเภทที่ 1 ให้ดำเนินการโดยเร็ว รวมทั้งตรวจสอบการบำบัดน้ำเสียจากต้นทางของสถานประกอบการในระยะ 500 เมตร ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงหาแนวการเพิ่มหรือขยายการตรวจสอบการบำบัดน้ำเสียของสถานประกอบการทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทั้งในส่วนของชุมชนริมคลองและผู้รุกล้ำแนวคลองไม่ทิ้งขยะและน้ำเสียลงคลอง 









Recommend News






MOST POPULAR
















©2018 ONBNEWS. All rights reserved.