โฆษกรัฐบาล เผยสมัย "ยิ่งลักษณ์" ปรับแผนผลิตไฟฟ้า ต้นเหตุค่าไฟแพง ส่วนยุคบิ๊กตู่ หาแนวทางแก้ปัญหาช่วยประชาชน
24 เม.ย. 2566, 16:10
วันที่ 24 เม.ย. 66 มีรายงานว่า นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ชี้แจงรายละเอียดว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้น(น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 จากฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เป็นฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3
โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4–5 ตั้งแต่ปี 2555–2569 (โดยในปี 2557 – 2558 GDP มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.7–6.0 ตามเศรษฐกิจโลกในช่วงขาขึ้นในขณะนั้น) ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้นตาม GDP
รัฐบาลในขณะนั้นจึงเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (ปี 2555) รวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW (จ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564 – 2569 ปีละ 900 MW) เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 – 24 และต่อมารัฐบาลได้เปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 5,400 MW ดังกล่าว ในปี 2555
นายอนุชา กล่าวว่า เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้พยายามที่จะทบทวนความจำเป็นของโครงการโรงไฟฟ้า IPP 5,400 MW ดังกล่าว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงนามผูกผันไปแล้ว (ตามคำตัดสินของศาลปกครอง)
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ทบทวนแผน PDP ใหม่อีกครั้ง ซึ่งพบปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.อัตราความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ ทำให้ Reserve Margin % ณ ปี 2558 ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 กลายเป็นร้อยละ 30 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
2.โรงไฟฟ้าที่อนุมัติไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อม หรือ Availability Payment (AP) โดยกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาระยะยาว 3.แผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานน้ำมีจำกัด และมีการเพิ่มพลังงานจาก fossil ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากประเด็นข้างต้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรจากรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2015) (ปี 2558) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้ปรับแผน PDP อีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน คือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 เพื่อให้แผนการจัดหาไฟฟ้าสะท้อนภาพความเป็นจริงและสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศมากที่สุด
ทั้งนี้ ในปี 2565 Reserve Margin % อยู่ที่ร้อยละ 36 เนื่องจากระหว่างปี 2563 – 2565 ไทยและทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ (แม้ว่าจะปรับทอนลงไปแล้วบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตอนจัดทำแผน PDP 2015 และ 2018 ใหม่แล้ว)
ในขณะที่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ตาม แผน PDP ก่อนหน้านี้ ได้ผูกมัดการดำเนินการต่าง ๆ ไปหมดแล้ว โดยมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 เป็นไปต้นไป ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม
นายอนุชา กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ในช่วงแรก รัฐบาลจึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างค่าไฟ เพื่อลดภาระของประชาชน 1.ลดค่าไฟฟ้าฐานลง จาก 3.77 บาท/หน่วยเป็น 3.75 บาท/หน่วย และคงค่าไฟฟ้าฐานในอัตราดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558) โดยเป็นการปรับลดวงเงินลงทุนและรายได้ของของ 3 การไฟฟ้าลง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
2.ทยอยปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร Ft ลงจาก 0.69 บาท/หน่วย ในช่วงปี 2557 เป็น ต่ำกว่า 0 บาท/หน่วย ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2564 เพื่อเป็นการบรรเทาอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการประมาณการที่ผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดค่า Ft ต่ำกว่า 0 ในช่วงเวลาดังกล่าว อาศัยแหล่งเงินจากเงินบริหารค่า Ft และเงินของทั้งสามการไฟฟ้าฯ ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังมีวงเงินคงเหลือในระดับที่สามารถนำมาใช้ได้ (แต่ปัจจุบัน เงินคงเหลือของทั้งสามการไฟฟ้าฯ ได้หมดลงแล้ว เนื่องจากได้นำไปอุดหนุนค่าไฟให้กับประชาชนในช่วงโควิดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ฯ จึงได้เร่งดำเนินการเพิ่มการจัดหาและรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการต่าง ๆ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เพิ่มเติม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop)
สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ปี 2562 – 2565 และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงระหว่างปี 2565 – 2573 ซึ่งโครงการที่ได้อนุมัติและดำเนินการในช่วงดังกล่าว มีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่าการรับซื้อจากโรงไฟฟ้า IPP ของเอกชนอย่างมาก และจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตหากวิกฤตราคาพลังงานยังคงส่งผลต่อเนื่อง หรือก๊าซในอ่าวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยผลการดำเนินงานดังกล่าวสามารถทำให้อัตราส่วนของพลังงานหมุนเวียนปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 33 ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 52 ในปี 2580 และหากดำเนินการตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (ปี 2563) ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วางแผนไว้ จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580
สะท้อนถึงการวางแผนระยะยาวในการลดปริมาณการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2564 – ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจมาโดยตลอด เช่น การตรึงค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน)
“รัฐบาลรับทราบข้อกังวล และไม่นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอทำความเข้าใจถึงปัจจัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต การดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงข้อเท็จจริงเรื่องแผนการจัดการไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบัน
อีกทั้งกระบวนการในส่วนที่รัฐสามารถจัดการได้ตามกรอบระเบียบและกฎหมาย รวมถึงกรอบการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักสากล และที่สำคัญรัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการช่วยเหลือของรัฐบาลนั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ว่าแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการวางแผนในระยะยาว
ทั้งนี้ ขอยืนยันแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเรื่องค่าไฟฟ้าในขั้นตอนต่อไป” นายอนุชากล่าว