หมอห่วง คนไทยติดเค็ม กินโซเดียมเกินเกณฑ์กำหนด เผยอายุ 35 เป็นโรคไตกันแล้ว
24 เม.ย. 2566, 17:05
24 เม.ย. 2566 – น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผอ.อาวุโสสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า น่าตกใจที่พบคนไทยส่วนใหญ่ กินโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งมากกว่าเกือบ 2 เท่า จากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสี่ยงป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน ความดันโลหิตสูง ไตวาย รวมถึงโรคเรื้อรังชนิดอื่น สร้างความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า โซเดียมเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลเสียทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35-40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ 50-60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อย ๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว
อีกปัจจัยคือ การกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย อาหารพวกนี้มีโซเดียมสูง แม้กระทั่งอาหารที่ผู้ปกครองปรุงเอง แต่ใช้ความเค็มสูง เมื่อเด็กน้ำหนักตัวน้อยกิน ทำให้บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ พอโตเป็นผู้ใหญ่ลิ้นจะติดเค็ม
นางอรพินท์ บรรจง จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยผลวิจัยตำรับอาหารท้องถิ่นพบว่า เรื่องใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม คนไทยชอบความเค็มด้วยพริกน้ำปลาระหว่างรับประทานอาหาร เป็นตัวการเพิ่มโซเดียม เสี่ยงเส้นเลือดแตก อัมพาต อัมพฤกษ์
โซเดียมที่ใกล้ตัวมากที่สุดและคนมักมองข้าม คือ พริกน้ำปลา ซึ่งแทบจะเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทย นอกจากนี้ ก่อนจะกินก๋วยเตี๋ยวก็มักจะเติมน้ำปลา น้ำตาล น้ำส้มสายชู ลงในชามก๋วยเตี๋ยว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ชิมก่อนการปรุงเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า ขอให้ได้ปรุง รสชาติเป็นอย่างไรค่อยแก้ทีหลัง