โลกเสี่ยงขาดแคลนข้าวรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากผลการผลิตที่ลดลง
24 เม.ย. 2566, 18:43
วันที่ 23 เมษายน 2566 บริษัทวิจัยของสหรัฐฯ ฟิตช์ โซลูชันส์ เสนอรายงานที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์ตลาดข้าวโลกในปีนี้ (2566) มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาขาดแคลนรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากผลการผลิตที่ลดลง ซึ่งจะทำให้ข้าวมีราคาแพงต่อไปจนถึงปี 2567 ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มประเทศในแอฟริกา และเนื่องจากข้าวเป็นสินค้าอาหารหลักในตลาดเอเชีย ราคาข้าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด
ราคาข้าวเฉลี่ยของโลกในขณะนี้อยู่ที่ 17.30 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 594.46 บาท) ต่อ 1 cwt ( 1 cwt เท่ากับ 100 ปอนด์ หรือ 0.0453 ตัน) และปริมาณข้าวส่วนที่ขาดแคลนระหว่างปี 2565-2566 จะอยู่ที่ประมาณ 8,700,000 ตัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีปัญหาขาดแคลนข้าว 18,600,000 ตันระหว่างปี 2546-2547
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี และความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวของจีนซึ่งเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ส่วนปากีสถานซึ่งครองส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลกร้อยละ 7.6 ยังมีผลผลิตลดลงร้อยละ 31 ในปีที่แล้ว (2565) เมื่อเทียบกับปี 2564
นอกจากนี้ ข้าวยังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มก่อตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นางเคลลี โกกรารี นักวิเคราะห์อาวุโสของโกร อินเทลลิเจนส์ กล่าวว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่มีปัญหาเงินเฟ้อ มีราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว เช่น ปากีสถาน ตุรกี ซีเรีย และบางประเทศในแอฟริกา