ปลัด มท. ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงทัศนียภาพเมืองสองแคว จัดแคมเปญ "หน้าบ้านน่ามอง" ส่งเสริมครัวเรือนปลูกต้นไม้ประจำวงศ์ตระกูล
26 เม.ย. 2566, 12:58
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองพิษณุโลกให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ปลอดภัย และยั่งยืน โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางสาวสรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก นายปรีชา แดงแสงทอง ท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก นายชิดชัย อังคะไวมงคล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลก นายภาคภูมิ มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด นายชัยลักษณ์ รักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ นายวิวัฒน์ ฤทธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษา เขต 2 (ภาคเหนือ) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดร.ถนัดกิจ น่วมอินทร์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพิษณุโลก นายธวัชชัย จงทอง รองผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดพิษณุโลก นางปิ่นเพชร พูลสวัสดิ์ กำนันตำบลหัวรอ อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ปราชญ์ชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อร่วมงานอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องชาวจังหวัดพิษณุโลกเนื่องในรัฐพิธีวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงถือโอกาสที่มาเยือนเมืองพิษณุโลกในครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามแนวทางการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองพิษณุโลก ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยทำให้สถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศชาติเรา คือ บริเวณโดยรอบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ซึ่งมีความสำคัญกับ 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนคนไทยมีความศรัทธา ความเคารพนับถือ และตั้งใจที่จะต้องมาสักครั้งหนึ่งของชีวิต
"การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการปรับปรุงทัศนียภาพระบบไฟฟ้าเหนือดิน และโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนหัวรอและพื้นที่ต่อเนื่องตำบลหัวรอในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการบำรุงรักษาและพัฒนาสถานที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในทางประวัติศาสตร์ให้มีความเจริญหูเจริญตา สอดรับกับนานาอารยประเทศที่พยายามอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าให้เป็นพื้นที่สะอาด สวยงาม ไม่รกรุงรัง มีสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอุโมงค์ต้นไม้ มีไม้ให้ร่มเงา เป็นพื้นที่รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในห้วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้น พวกเราในฐานะคนมหาดไทย ทั้งภาคราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ท้องที่ และท้องถิ่น ต้องช่วยกันในการที่จะทำให้สถานที่ที่สำคัญได้มีความสวยงาม สะดวกสบายในการสัญจร และการดำเนินการทั้ง 2 โครงการนี้ ยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรม “ชินะราชา เบิกฟ้าเสริมบุญ ตักบาตรรับอรุณ หน้าวิหารเสริมพลังศรัทธา @ เมืองสองแคว” อันเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและพี่น้องประชาชน จนทำให้ตลาดทุกเช้าวันเสาร์ มีคนนิยมชมชอบ ทั้งคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ ให้ความสนใจมาท่องเที่ยว มาทำบุญ นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เกิดเป็น Soft Power ยังผลทำให้คนเอาเงินทองมาจับจ่ายใช้สอย และยิ่งถ้าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับส่วนราชการ แขวงทางหลวง และบูรณาการทีมจังหวัดพิษณุโลก และทีมอำเภอเมืองพิษณุโลก ทำให้พื้นที่สวยงามเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดผลดียิ่งขึ้นด้วย" ปลัด มท. กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้ใช้กลไกบุคลากรและทรัพยากรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ภาคธุรกิจโรงแรม ท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครพิษณุโลก ฯลฯ จัดแคมเปญ "หน้าบ้านน่ามอง" ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรบางส่วน การสนับสนุนพันธุ์พืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้สมุนไพร และภาชนะสำหรับเพาะปลูก บริเวณด้านหน้าบ้านเรือน ซึ่งจากข้อมูลที่ท่านกำนันตำบลหัวรอได้นำเสนอว่า ตำบลหัวรอมีประชากร 8,000 ครัวเรือน 25,000 คน ถ้าทุกครัวเรือนได้ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้เป็นไม้ประจำวงศ์ตระกูลคนหัวรอ ด้วยการหาต้นไม้หอม ไม้สมุนไพรมาปลูก ทำต้นไม้เสี่ยงทาย เพื่อให้เกิดการช่วยกันทำนุบำรุง ช่วยกันดูแล เช่น ต้นอินจัน ต้นปีป ต้นแก้ว ต้นจามจุรี ต้นราชพฤกษ์ เป็นต้น
นายวิวัฒน์ ฤทธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษา เขต 2 (ภาคเหนือ) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในด้านการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารในบริเวณสถานที่สำคัญของจังหวัด โดยที่จังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดและประเทศไทย เป็นโบราณสถานที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคการสถาปนาเมืองพิษณุโลกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาสักการะองค์พระพุทธชินราช และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัด รวมถึงสถานที่สำคัญโดยรอบ เช่น พระราชวังจันทน์ วัดนางพญา เป็นต้น โดยได้ดำเนินโครงการปรับปรุงทัศนียภาพระบบไฟฟ้าเหนือดิน ด้วยการดำเนินการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารบริเวณโดยรอบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อทำให้ทัศนียภาพบริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายแสนคน ให้ไม่มีสภาพสายไฟฟ้าหรือสายสื่อสารที่รกรุงรัง ทั้งยังจะทำให้ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและมีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566
นายชิดชัย อังคะไวมงคล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนหัวรอและพื้นที่ต่อเนื่องตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยบริเวณหัวเกาะคูเมือง จะติดตั้งศิลปกรรมหัวรอ หลักรอ มีน้ำ มีไห ตกแต่งลวดลายพื้นเป็นคลื่นน้ำ เพื่อที่จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ พร้อมทั้งใช้ระบบการบำบัดน้ำเสีย เพื่อทำให้น้ำบริเวณคูเมือง ระยะทางประมาณ 200 เมตร มีความสะอาด นอกจากนี้ มีการดำเนินการตกแต่งอัฒจันทร์ 3 ชั้น มีที่พักผ่อนสำหรับประชาชนใช้พักผ่อน และจะยังผลทำให้ถนนบริเวณดังกล่าวสามารถระบายการจราจร และในอนาคตเมื่อแล้วเสร็จ สามารถพัฒนาพื้นที่เป็นตลาดน้ำชุมชน ในอนาคต
อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมบริเวณตำบลหัวรอ เกิดจากสถานที่ตั้งของพื้นที่ ด้านเหนือมีทางบายพาสตัดผ่าน ด้านทิศตะวันตกเป็นแม่น้ำน่าน ทิศตะวันออกเป็นทางรถไฟ ในอดีตเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต่อมาได้มีการก่อสร้างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ และส่วนราชการ 42 หน่วยงานรวม 13 กระทรวง และยังมีโครงการบ้านจัดสรร 54 โครงการ มีห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อหลายสิบแห่ง ทำให้กลายเป็นพื้นที่ชุมชน ส่งผลทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมยากมาก
"โดยภายหลังจากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จึงทำให้ภาคีเครือข่ายภาคราชการได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเมื่อโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้การจราจรสะดวกขึ้น และคูคลองจะระบายน้ำจากฝั่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ จะทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมหัวรอได้ และจะทำให้มีพื้นที่พักผ่อนนั่งรอของผู้ปกครองที่มารอรับบุตรหลานรวมถึงประชาชนทั่วไป" อ.ขวัญทอง กล่าว