นายกฯ หนุนโครงการ 5F ผลักดันผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมไทยเป็นสินค้าส่งออกให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
28 เม.ย. 2566, 09:04
วันนี้ (28 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการดำเนินโครงการ 5F ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการผลักดันตามโครงการ 5F ได้แก่ อาหาร (Food), ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film), การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion), ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ เทศกาลประเพณีไทย (Festival) เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงวัฒนธรรมไทยสู่สากล สร้างโอกาสจาก Soft Power ที่มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม จาก 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3.45 ล้านล้านบาท ในปี 2570 หรือ 15% ของ GDP ผ่านการผลักดันโครงการ 5F ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP เปิดเผยว่าขณะนี้ได้สนับสนุนผู้ประกอบการผ่านแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าที่ต้องการส่งออก เน้นการปรับเปลี่ยนความคิดให้รับกับวัฒนธรรมและค่านิยมไทยมากขึ้นเพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ผลักดัน Soft Power ของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถสร้างการรับรู้และต่อยอดไปสู่การสร้างสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม เช่น
- ด้านอาหาร (Food) สนับสนุนผู้ประกอบการในการทำตลาด ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารจากประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการยกระดับคุณภาพร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มีมาตรฐานผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 9.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี และในปี 2566 นี้ กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่ใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศให้เติบโตเพิ่มอีก 5% ภายใต้แนวทาง “ครัวไทยสู่ครัวโลก”
- ด้านภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) มีโครงการที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานHong Kong Film & TV Market 2023 หรือ Filmmart 2023 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย โดยมีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ซื้อจากต่างชาติ สนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทยจาก 21 บริษัท สร้างมูลค่าการเจรจาทางการค้าได้กว่า 1,300 ล้านบาท, โครงการ Content Lab ส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์เข้าสู่ตลาดโลก และมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย จีน ฮ่องกง เอเชียตะวันออก และอาเซียน โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าและบริการไทย
- การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ส่งเสริมและพัฒนาดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในปีที่ผ่านมา การส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยมีมูลค่ารวม 349,034.57 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เร่งขยายกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มค่านิยมสินค้าผ้าไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นใช้ช่องทางการตลาด e-Commerce อาทิ sacitshop.com, sacit Shop Application รวมไปถึงมีการขยายและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดสินค้างานศิลปหัตถกรรมไทย กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ คือ pinkoi.com แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย อาทิ ไทย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมยังได้กำหนดการจัดทำ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยจะศึกษาและจัดทำจุดยืนของประเทศในการขับเคลื่อน Soft Power (Thailand’s Soft Power Positioning) เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาประชาคม และการศึกษาแนวโน้มและสภาพการตลาดของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพในการเป็น Soft Power ทั้งระดับประเทศและนานาชาติอีกด้วย
“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่างๆ เชื่อมั่นว่า เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยมีศักยภาพในทุกแขนง สามารถนำมาต่อยอดเพิ่มคุณค่าต้นทุนที่มีทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการให้เป็นที่สนใจในตลาดโลก” นายอนุชาฯ กล่าว