นายกฯ พบคณะยุวชนประชาธิปไตย เปิดเวทีสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่รัฐและการบริหารราชการแผ่นดิน
28 เม.ย. 2566, 12:29
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรับมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 เมษายน 2566) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี หลังนอก ทำเนียบรัฐบาล นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสภาผู้แทนราษฎร นำคณะยุวชนประชาธิปไตยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าเยี่ยมคารวะและรับฟังโอวาทจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายธนกร เทือกศิริ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ตัวแทนยุวชนประชาธิปไตย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตยประจำปี 2566 ว่า เพื่อให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้เชิงบูรณาการด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และความรับผิดชอบของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามวิถีรัฐธรรมนูญ อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้เข้มแข็ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 - 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญหรือสายอาชีพ และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 160 คน โดยในปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2566 ณ สถาบันวิชาการเอ็นที อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ หลักสูตรการอบรมกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตยประกอบด้วยภาคเนื้อหาสาระ และภาคประสบการณ์ ซึ่งภาคประสบการณ์ได้มาศึกษาดูงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล ในครั้งนี้เพื่อให้ยุวชนประชาธิปไตยได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะท่านนายกรัฐมนตรี และได้เรียนรู้ถึงบทบาท หน้าที่ และอำนาจของฝ่ายบริหาร อันเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ยุวชนได้สัมผัสและเรียนรู้จากสถานที่จริง เพื่อเป็นการเพิ่มพูน และสร้างเสริมประสบการณ์อันจะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบกับคณะผู้บริหารสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่นำคณะยุวชนประชาธิปไตยเดินทางมาศึกษาดูงานและเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาล รวมถึงเรียนรู้เรื่องบทบาท หน้าที่และอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะศูนย์สั่งการของรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศและสั่งการไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงระบบการทำงานของประเทศว่า ประกอบด้วย 3 ฝ่ายที่สำคัญ 1) ฝ่ายบริหาร คือในส่วนของรัฐบาล ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือหัวหน้าฝ่ายบริหาร 2) ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาฯ และ 3) ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม (ฝ่ายตุลาการ) โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของทั้ง 3 ฝ่ายไว้ชัดเจนคือจะต้องไม่มีการก้าวล่วงซึ่งกันและกัน แต่จะเกิดความร่วมมือระหว่างกันผ่านช่องทางการดำเนินการตามกฎหมาย กระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งนี้สิ่งสำคัญของประชาธิปไตย คือ ทุกคนต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง และมีสิทธิทุกอย่างตามกฎหมายที่กำหนดไว้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น ดังนั้นทำความต้องเข้าใจคำว่า “ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ” ให้ชัดเจนเพื่อให้การใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นให้เกิดความลำบากและเดือดร้อน
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงเรื่องความเท่าเทียมว่า สิ่งที่ทุกคนเท่าเทียมกันคือการอยู่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญเดียวกันที่ได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิ์ มีหน้าที่ และมีความรับผิดชอบไว้แล้ว รวมถึงการทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมทางด้านโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทุกพื้นที่ เช่น การศึกษา สุขภาพ การขนส่งคมนาคม เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ฯลฯ ตลอดจนการดูแลแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเหลือมล้ำในสังคม นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังให้ความเชื่อมั่นต่อสถานะการเงินของประเทศไทยที่ยังแข็งแกร่งซึ่งรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญในการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นอกจากการเรียนรู้ในเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว เยาวชนจะต้องศึกษาเรียนรู้และหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีทักษะความสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นโลกของเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทักษะในการดำเนินชีวิตที่จะทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข พร้อมย้ำให้เยาวชนทุกคนเตรียมความพร้อมทั้งด้านจิตใจและร่างกายให้เข้มแข็งและแข็งแรง รวมถึงการศึกษาเรียนรู้พัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและอนาคตทั้งด้านเทคโนโลยี สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์โลกของต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข อีกทั้งได้เชิญชวนให้เยาวชนและประชาชนหันมาปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นโดยเฉพาะการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศและลดการปล่อยการคาร์บอนไดออกไซด์และโลกร้อนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งสามารถใช้เป็นหลักประกันและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เช่น การขายเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของโลก มาคำนวนเป็นค่าเครดิต ให้สามารถซื้อ-ขายได้ด้วย
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นความสำคัญของเยาวชนและจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ซึ่งเยาวชนทุกคนจะร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป