อำเภอสำโรงทาบจัดให้เป็นครั้งแรกวันชุมชนกูยโลก รวมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูยจากประเทศเพื่อนบ้าน
30 เม.ย. 2566, 15:57
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า อำเภอสำโรงทาบจัดให้เป็นครั้งแรกวันชุมชนกูยโลก รวมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูยจากประเทศเพื่อนบ้าน ขบวนแห่ สุดอลังการ พร้อมประกาศให้วันที่ 29 เมษายนของทุกปี เป็นวันกูยโลกแห่งประเทศไทย เพื่อสืบสานตำนานความรักสามัคคีและขนบธรรมเนียมของชาวกูย ชาติพันธุ์ที่มีมานานนับพันปี
ช่วงค่ำวานนี้( 29 เมษายน 2566)ที่ หน้าที่ว่าการ อ.โรงทาบ จ.สุรินทร์ พลเอกจรัล กุลวนิชย์ ประธานที่ปรึกษาชมรมชาวกูยแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน วันชุมชนชาวกูยโลกขึ้น โดยมีนายกองโท ไตรรัตน์ เครือบุตรดีมหาโชค นายอำเภอสำโรงจัดงานวันชุมชนชาวกูยโลกขึ้น เป็นครั้งแรก ของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอำเภอสำโรงทาบ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนชาวกูย และลาว ไทย เขมรร่วมอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน และเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ของจังหวัดสุรินทร์ อีกอำเภอหนึ่ง โดยในวันนี้ทางอำเภอสำโรงทาบ ได้มีการจัดงานวันกูยโลก ประกาศของดี ประเพณี อำเภอสำโรงทาบขึ้น อย่างยิ่งใหญ่ โดยปีนี้ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวอำเภอสำโรงทาบ ท้อนถึงชาติพันธุ์ชาวกูยที่อยู่ในพื้นที่มาแต่โบราณ และมีการสะท้อนวัฒนธรรมกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายในพื้นที่ จึงได้มีการจัดสืบสานประเพณีของดีอำเภอสำโรงทาบและมหัศจรรย์วันกูยโลก ขึ้น
โดยเฉพาะการแสดงออกและขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวกูย พร้อมทั้งขบวนฟ้อนรำที่ทำให้ผู้คนที่ไปเที่ยวชมงานตะลึงกันเลยทีเดียว และนอกจากชาวกูยในอำเภอสำโรงทาบแล้ว งานในครั้งนี้ได้จัดรวมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูยในจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียงในเขตพื้นที่นครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมงาน เป็นการร่วมในการสืบทอดแสดงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ชาวกูย ที่มีมายาวนานในภูมิภาคเอเชียให้ผู้คนได้รู้จัก และถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้มีการจัดขึ้น พร้อมประกาศให้วันที่ 29 เมษายนของทุกปี เป็นวันกูยโลกแห่งประเทศไทย
ในขบวนมีการนำช้างแสนรู้ที่ถือว่าอยู่คู่กับชาวกูยมาอย่างยาวนาน ร่วมขบวนแห่ การแสดงศิลปวัฒธรรมที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ชาวกูย ได้อย่างสวยงาม ทั้งการฟ้อนรำที่ใช้บทเพลงของชาวกูย และการแต่งกายของชาวกูยด้วยผ้าไหมทั้งเสื้อและผ้าซิ่นไหม ที่สวยงามไปตามท้องถนน โดยนายอำเภอสำโรงทาบ ร่วมขบวนแห่ แต่งกายด้วยผ้าไหมถือตะขอช้าง เดินจูงช้างเดินนำแห่ขบวนด้วยตนเอง ตลอดเส้นทางมีการเต้นรำร่วมกับช้างไปตามถนน โดยมีชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวรอชมความงดงามตลอดเส้นทาง ก่อนเคลื่อนขบวนมุ่งสู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ร่วมกันประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญแบบชาวกูย และเปิดงานวันกูยโลกอย่างเป็นทางการ
สำหรับอำเภอสำโรงทาบมีพื้นที่รับผิดชอบ 10 ตำบล ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี 2501 โดยแยกมาจากอำเภอศีขรภูมิ ก่อตั้งมาครบ 65 ปีในวัน 29 เม.ย.66 ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นชาวกูยหรือชาวส่วยซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอันโดดเด่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และประเพณีอันดีงามของชาวกูยในพื้นที่อำเภอสำโรงทาบ การจัดงานของดีอำเภอสำโรงทาบ พร้อมทั้งจัดงานวันกูยโลกขึ้น และถือเป็นการจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของโลก ที่มีการร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย ทั้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวกูยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามัคคีและอัตลักษณ์ของชาวกูยที่อยู่ในประเทศไทยกับภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวงนานนับพันปี ให้เป็นที่รู้จัก ในงานนี้ยังมีการประกวดนางสาวกูยโลก การเดินแบบกิตติมศักดิ์ชุดชาติพันธ์กูย ขบวนแห่ชาวกูยนานาชาติไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้ได้ชมอีกด้วย