นายกฯ ส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มมูลค่ายางพารา-ปาล์ม ผลักดันการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยวระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย
24 พ.ค. 2566, 09:52
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Summit) ร่วมกันเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ทั้งยางพาราและปาล์ม พร้อมผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง 3 ประเทศ และฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Summit) ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(The 15th IMT-GT Summit) ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ สรุปความสำเร็จในรอบ 30 ปี ของแผน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ทั้งมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภายในอนุภูมิภาคซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.279 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2527 เป็น 4.057 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 รวมทั้งมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นจาก 9.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2527 เป็น 6.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เน้นย้ำประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ 1) เร่งรัดพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ 2) พัฒนาสินค้าเกษตรที่ทั้ง 3 ประเทศมีการผลิตร่วมกันในปริมาณมาก ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน 3) เร่งรัดการลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าอย่างไร้รอยต่อ 4) พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และฟื้นฟูเศรษฐกิจของ IMT-GT ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่สำคัญ โดยมีหลายส่วนเป็นประเด็นที่ไทยเน้นย้ำการดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาอนุภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมศักยภาพ ทั้งอาหารฮาลาล สินค้าเกษตร อาทิ ยางพาราและปาล์ม รวมถึงเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และร่วมกันผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของอนุภูมิภาค” นายอนุชาฯ กล่าว