เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชุมพรวิกฤติน้ำคลองแห้ง-ต้นทุเรียนตาย ผู้ว่าฯ-ศูนย์ฝนหลวงจ่อตั้งฐานบินเร่งช่วยเหลือ คาดเสียหาย 100 ล้านบาท


24 พ.ค. 2566, 13:03



ชุมพรวิกฤติน้ำคลองแห้ง-ต้นทุเรียนตาย ผู้ว่าฯ-ศูนย์ฝนหลวงจ่อตั้งฐานบินเร่งช่วยเหลือ คาดเสียหาย 100 ล้านบาท




วันที่ 23 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาคจะย่างเข้าหน้าฝนแล้ว แต่จังหวัดชุมพรยังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร่วม 3 เดือน   ลำห้วย  คลองสาธารณะหลายสายน้ำแห้งขอด ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค  และในภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวหนักที่สุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะผู้ปลูกทุเรียนในเขตพื้นที่อำเภอสวีเดือดร้อน 10 ตำบล จำนวน 88 หมู่บ้าน หนักสุดตำบลทุ่งระยะ นาสัก  เขาค่าย  เขาทะลุ และอำเภอท่าแซะ ต้นทุเรียนขาดน้ำยืนต้นแห้งตายเพิ่มจำนวนมากขึ้น  มูลค่าความเสียหายคาดนับร้อยล้านบาท

ล่าสุดนายวิสาห์  พูลศิริรัตน์  ผู้ว่าฯจ.ชุมพร  กล่าวขณะลงพื้นที่ดูแหล่งน้ำบริเวณ สถานีสูบน้ำแรงต่ำ  คลองวิสัย ของหน่วยบริการสวีการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหลังสวน ตำบลวิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร ตั้งอยู่ริมคลองวิสัย ติดถนนสายเอเชีย 41 พร้อมด้วย นายพิศิษฐ์  ฤทธิพิชัย  นายอำเภอสวี  นายสินชัย  พึ่งตำบล  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้  นายสมเดช  ใจสมุทร ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาชุมพร ผู้นำชุมชน  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าสำรวจตรวจสอบ

ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ขณะนี้เกิดผลกระทบพื้นที่การเกษตร น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ด้านความช่วยเหลือทางอธิบดีและผอ.ศูนย์ปฏิบัติฝนหลวงภาคใต้จะระดมกำลังมาตั้งฐานที่ชุมพรเพื่อเร่งแก้ปัญหา ในส่วนของจังหวัดชุมพรประชุมคณะกรรมการพร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเซ็นอนุมัติงบเติมน้ำให้ระบบประปาจำนวน 2 โครงการ เนื่องจากว่าปีนี้หยุดตกและทิ้งช่วงนานมากซึ่งปกติฝนน่าจะตกลงมาแล้ว ทำให้แหล่งต้นน้ำแห้ง

อีกทั้งการใช้น้ำรดทุเรียน มังคุด ซึ่งกำลังออกผลจำเป็นต้องใช้น้ำเกษตรกรต้องใช้รถบรรทุกน้ำขนจากแหล่งน้ำต่างๆ แต่ขณะนี้แหล่งน้ำแห้งขอด ด้านจังหวัดใช้วิธีบริหารจัดการน้ำเป็นเวลาและแบ่งกันใช้ ขณะเดียวกันให้ทำฝนเทียมประกอบกันรอฝนตามฤดูที่มาถึง ท้องถิ่นใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาโดยร่วมกับทหาร สาธารณสุข  จังหวัด  กรมชลประทาน สูบน้ำ ขุดลอกหน้าฝาย  ขุดน้ำแจก ระดมกำลังอย่างเต็มที่

สำหรับพื้นที่เกษตรได้รับความเดือดร้อนที่น่าห่วงที่สุดคืออำเภอสวี  และท่าแซะ ส่วนในอำเภอสวีน้ำประปาเริ่มขาดแคลนและอำเภอพะโต๊ะบางส่วน  ด้านชลประทานชุมพรนำรถน้ำเข้าไปช่วยเหลืออำเภอท่าแซะแล้วเช่นเดียวกัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  กล่าวอีกว่า เครื่องบินฝนหลวงขึ้นบินมาหลายช่วง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสภาพอากาศและพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้ฝนที่ตกไม่ตรงกับพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งหลังจากนี้ได้ปรับแผนใหม่โดยเพิ่มรอบบินมากขึ้นต่อเนื่องจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ และคาดว่าทางฝนหลวงจะตั้งศูนย์อำนวยการฝนหลวงที่สนามบินปะทิว

จังหวัดชุมพรไม่เคยประสบภัยแล้งช่วงยาวขนาดนี้มาก่อนจึงเป็นประสบการณ์นำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาระยะยาวต้องมีมาตรการขยายบ่อกักเก็บน้ำของเกษตรกรเองเพิ่ม  ส่วนบ่อกักเก็บน้ำสาธารณะรวมในแต่ละพื้นที่ให้พูดคุยทำประชาคมหาข้อสรุปกับพี่น้องประชาชน ส่วนราชการมีงบที่จะช่วยสนับสนุนพิจารณาโครงการเพื่อความเหมาะสม

สุดท้ายหน่วยงานท้องถิ่นต้องสำรวจลำน้ำต่างๆถ้าสามารถเพิ่มความลึกได้ให้เตรียมดำเนินการไว้รอรับน้ำ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะได้อยู่ในแหล่งน้ำต่างๆที่มากพอ ที่ผ่านมายอมรับว่าแหล่งน้ำตื้นมากมีน้ำไหลผ่านไปเหลือเพียงเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเข้าที่ประชุมจังหวัดมอบเป็นภารกิจให้เตรียมการไว้ในระยะยาว” ผู้ว่าฯจ.ชุมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม หลังจากได้ข้อมูลจากชาวสวนทุเรียนว่า เจ้าของสวนทุเรียนบางรายจำเป็นต้องควักเงินทุนเพื่อซื้อน้ำใช้รดทุเรียนวันละ6,000 บาทเป็นเวลามา 1 เดือนกว่า รวมนับ100,000 บาท จุดที่อบต.เขาค่าย มีไว้ 3 หัวจ่าย บริการน้ำฟรีก็ไม่เพียงพอ





คำที่เกี่ยวข้อง : #ชุมพร   #ทุเรียน  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.