เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.แจงชัด! ปม "เพื่อไทย" กล่าวหาให้สัญชาติต่างด้าวผิดกฎหมาย ยันตรวจสอบละเอียดเข้มงวดทุกขั้นตอน


4 ต.ค. 2562, 20:27



มท.แจงชัด! ปม "เพื่อไทย" กล่าวหาให้สัญชาติต่างด้าวผิดกฎหมาย ยันตรวจสอบละเอียดเข้มงวดทุกขั้นตอน




จากกรณีสื่อออนไลน์ชื่อดัง ได้หยิบยกคำสัมภาษณ์ของ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ได้พูดถึงเรื่องการได้สัญชาติไทยของบรรดาคนต่างชาติอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยระบุว่ามีประชาชนยื่นหนังสือร้องทุกข์กับทางพรรคเพื่อไทยในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก พร้อมกล่าวโจมตีกระทรวงมหาดไทย และยังระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่รู้เห็นเป็นใจ

โดยล่าสุด ทางกระทรวงมหาดไทยได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า กรณีสื่อออนไลน์ชื่อดัง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เสนอเรื่องการได้สัญชาติไทยอย่างไม่ถูกต้องของคนต่างด้าว นั้น ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ กระบวนงานในการพิจารณาให้สัญชาติและการตรวจสอบการขอสัญชาติไทยตามกฎหมาย ในเบื้องต้นผู้ขอต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และผ่านขั้นตอนการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในหลายระดับ และหลายหน่วยงาน สามารถจำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศ (ไม่ได้เกิดในประเทศไทย) จะมีช่องทางในการขอสัญชาติไทย โดยการแปลงสัญชาติและการขอถือสัญชาติไทยตามสามีไทย โดยเริ่มยื่นคำร้อง ต่อผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ) หรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (กรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด) ซึ่งในระดับจังหวัดยังมีคณะทำงานระดับจังหวัดตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็ส่งเรื่องมายังกระทรวงมหาดไทย  โดยต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และคณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ พิจารณาก่อนจึงเสนอ รมว.มท. พิจารณาอนุญาต เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท (กรณีขอแปลงสัญชาติไทย) เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป

2. คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จะมีช่องทางในการขอสัญชาติไทยในหลายช่องทางขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ เช่นในกรณีการขอลงรายการสัญชาติไทยของบุคคลที่ถูกถอนสัญชาติหรือไม่ได้สัญชาติไทยเพราะประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อปี พ.ศ.2515 จะต้องมีการยื่นคำขอต่อนายอำเภอ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วว่าถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด นายอำเภอจะอนุมัติ และส่งคำร้องมายังสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองเพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องก็จะกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (เลขคนไทย) และแจ้งอำเภอเพื่อเรียกผู้ยื่นคำขอ มาดำเนินการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ต่อไป

 กรณีการขอสัญชาติไทยให้แก่บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.กำหนด โดยจะต้องยื่นคำขอต่อนายอำเภอเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติก่อน และถ้าผู้ขอมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะต้องส่งคำร้องพร้อมหลักฐานไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ เมื่อพบว่าถูกต้องครบถ้วน จึงจะพิจารณาอนุมัติและส่งคำร้องไปยังกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบในขั้นสุดท้าย แล้วจึงกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก (เลขคนไทย) และแจ้งจังหวัด/อำเภอเพื่อเรียกผู้ยื่นคำขอมาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ต่อไป  

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งสัญชาติไทยนั้น มีกระบวนการในตรวจสอบคุณสมบัติในหลายระดับชั้นด้วยความละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้ง ในขั้นตอนของการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนมีกระบวนพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลและลายพิมพ์นิ้วมือ เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนและยืนยันความเป็นเจ้าของรายการบุคคลที่แท้จริงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความรอบคอบและรัดกุมในการป้องกันการกระทำทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.