สธ.ประเมินยุทธศาสตร์ควบคุมโรคระหว่างประเทศ ระยะที่ 1
28 พ.ค. 2566, 13:18
วันนี้ ( 28 พ.ค.66 ) กระทรวงสาธารณสุข เผย การศึกษาประเมินผลยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านป้องกันควบคุมโรค ระยะที่ 1 หลังสิ้นสุดการใช้ในปี 2564 พบดำเนินงานครบถ้วนตามยุทธศาสตร์ ทั้งบูรณาการทำงาน พัฒนาบุคลากรเชี่ยวชาญ ใช้เทคโนโลยีสนับสนุนงาน ผลักดันการดำเนินงานและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เสนออบรมทักษะที่จำเป็น เพิ่มอัตรากำลัง/กลุ่มงานในระดับเขต พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะต่อไป
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พื้นที่ชายแดนมีการเดินทางข้ามไปมา ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคได้ การป้องกันและควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความร่วมมือกับทั้งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560 - 2564) เป็นกรอบทิศทางการดำเนินงาน และสิ้นสุดลงในปี 2564 สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค จึงทำการศึกษาประเมินผล เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางสำหรับยุทธศาสตร์ฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2569) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยทำการศึกษาเชิงคุณภาพและประเมินผลผ่านกระบวนการ 2 รูปแบบ ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จากจังหวัดที่ได้รับการประเมิน โดยแบ่งกลุ่มตามพื้นที่จังหวัดชายแดน ทั้งที่ติดกับลาว เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย รวมถึงการตอบคำถามแบบประเมินยุทธศาสตร์ด้วยตนเองทางระบบออนไลน์ ของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านนี้
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพองค์กร บุคลากรด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานหลายภาคส่วน และทุกชายแดนสามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ การพัฒนาบุคลากรส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่นักระบาดวิทยาภาคสนามและผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันควบคุมโรคในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบบริหารจัดการ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ส่วนภูมิภาคมีการนำระบบข้อมูลสารสนเทศความร่วมมือระหว่างประเทศมาใช้ปฏิบัติงาน ขณะที่ส่วนกลางมีการจัดทำชุดความรู้หลายภาษา และเทคโนโลยีสนับสนุนการดำเนินงาน, ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาบทบาทนำระดับนานาชาติ และขับเคลื่อนข้อตกลงระหว่างประเทศ ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการประชุมระดับทวิภาคี พหุภาคี และนานาชาติ มีการผลักดันในการนำนโยบาย ข้อตกลงระหว่างประเทศ และบันทึกข้อตกลง เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ มีทำเนียบและการพัฒนาเครือข่ายทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ
"ในด้านคะแนนตามรายยุทธศาสตร์ระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค พบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากทั้งสองมีการดำเนินการร่วมกับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศและเครือข่าย ในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค และปัญหาสุขภาพระหว่างประเทศ แต่มีข้อเสนอแนะ คือ ส่วนกลางและภูมิภาคให้มีการอบรมทักษะที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น, ให้มีกลุ่มงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศระดับเขต รวมทั้งเพิ่มอัตรากำลัง, มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับงานความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ส่วนกลางบูรณาการโปรแกรมร่วมกัน, กำหนดผู้ประสานงานหลักระหว่างประเทศในระดับจังหวัดและปรับปรุงข้อมูลทุกปี และให้ผู้บริหารจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน" นพ.รุ่งเรืองกล่าว