เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ไทย-ลาว" ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดน


2 มิ.ย. 2566, 05:33



"ไทย-ลาว" ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดน




วันนี้ 1 มิ.ย.ที่ห้องประชุมสิรินธารา รร.เดอะวัน อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดน หรือ MOU ระหว่างระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายไทย นำโดย ดร.นายแพทย์ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ประธานฝ่ายไทยกับผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดย ดร.สอนไซ  ปันยานุวง หัวหน้าแผนกสาธารณสุขแขวงบอลิคำไซ ประธานฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะตัวแทนฝ่ายละ 60 คนเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเสวนาการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศทั้งสองฝ่าย การประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดนไทย - ลาว ระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ ได้แลกเปลี่ยนบทเรียน และความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุข ตามกฎระเบียบสากล ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation IHR 2005) ตามบทบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยโดย นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยท่านบุนกอง สีหาวง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 7 ปีผ่านมานั้น

 



ดร.ภมร ดรุณ นายแพทย์ สสจ.บึงกาฬ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ป่วยฝั่ง สปป.ลาว เข้ามารักษาที่บึงกาฬว่า ก่อนโควิดระบาด พี่น้องชาวลาว เข้ามารักษายังโรงพยาบาลบึงกาฬเป็นจำนวนมาก ตกปีหนึ่ง ประมาณหมื่นกว่าคนได้ ส่วนมากก็มารักษาโรคทั่วไป เช่น โรคหวัด โรคกระเพาะ รวมทั้งตามคลินิกด้วย บางคนก็มาซื้อของ หรือมาเที่ยวแล้วก็ถือโอกาสตรวจสุขภาพด้วย อาจจะเป็นเพราะพี่น้องชาวลาวชื่นชอบทั้งหมอฟังไทยก็เป็นได้ ส่วนคนไทยก็จะมีส่วนน้อยที่ข้ามไปเที่ยวที่ฝั่งลาว แล้วเกิดการเจ็บป่วยกระทันหันหรือเกิดประสบอุบัติเหตุ ได้เข้ารักษาตัวเบื้องต้นที่โรงพยาบาลที่บอลิคำไซ จากนั้นก็มีการส่งตัวมารักษาต่อที่ รพ.บึงกาฬ ใน MOU นั้นได้มีการตกลงเรื่องการส่งคนป่วยข้ามลงเรือมายังฝั่งไทย ก็ได้มีการติดต่อระหว่างหมอฝั่งไทยและฝั่งลาวก่อนที่จะส่งตัวคนป่วยข้ามมา จึงได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกันว่าจะส่งกันแบบไหนอย่างไร หรือจะมีการรายงานร่วมกันอย่างไรในการติดต่อสื่อสาร หรือจะไปรับคนไข้อย่างไร ซึ่งต่อไปหากมีคนป่วยจะส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ก็จะมีการโทรศัพท์ประสานกันก่อนให้เรียบร้อยเสียก่อน หากมีการรีเฟอร์ หรือส่งตัวมารักษาต่อที่บึงกาฬก็จะสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากว่าเรามีการติดต่อประสานกันทั้งทางโทรศัพท์ ทางไลน์และก็ What App ซึ่งมีการติดต่อหลากหลายช่องทางขึ้นนั่นเอง

 


ส่วน ดร.สอนไซ ปันยานุวง หัวหน้าแผนกสาธารณสุขแขวงบอลิคำไซ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยที่บอลิคำไซนั้น ผู้ป่วยก็มีหลากหลายโรคเช่นกัน ส่วนหนึ่งที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการอยากมาเที่ยวด้วย และก็มาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลบึงกาฬ ที่ รพ.บอลิคำไซนั้นผู้ป่วยก็มีประมาณวันประมาณ 100-150 กว่าคน ส่วนมากที่มานอนโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วยโรคกระเพาะ โรคเบาหวาน การผ่าตัดเอาลูกออก หรือคลอดลูกและก็ผ่าตัดทั่วไป ส่วนงบประมาณที่ได้ก็จะมาจากทางรัฐบาลอุดหนุนและก็ส่วนหนึ่งก็ประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเข้ารักษาตามโรงพยาบาลฟรีไม่ต้องเสียเงิน ส่วนประมาณ 20 ปีก่อนท่านหลวงตามหาบัวก็เคยนำเครื่องมือแพทย์และนำเงินไปช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลบอลิคำไซแห่งนี้ด้วย

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.