นายกฯ ติดตามความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ CEPA เชื่อมั่น สรุปผลได้ภานใน 6 เดือน ช่วยเพิ่ม GDP ไทย
2 มิ.ย. 2566, 08:55
วันนี้ (2 มิถุนายน 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ระหว่างไทย – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เชื่อมั่นศักยภาพความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันสามารถเติบโตได้อีกมาก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA ระหว่างไทย–สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รอบแรก ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้เริ่มหารือยกร่างข้อบทความตกลง CEPA อาทิ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 6 เดือน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากการเจรจา CEPA บรรลุผลสำเร็จ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.08–1.2 หมื่นล้านบาท ภาพรวมการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 6,494 – 8,305 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้น อาทิ สินค้าอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เเละยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มีนาคม) ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 4,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป UAE มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า มูลค่า 3,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบต่างๆ ระหว่างไทยกับต่างประเทศ โดยการเจรจา CEPA ระหว่าง ไทย-UAE ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมากหลังทั้งสองประเทศเริ่มต้นเดินหน้าเจรจาอย่างเป็นทางการ ซึ่งการทำแต่ละ FTA ของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำความตกลงเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งหากสามารถจัดทำและให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว ประเทศไทยก็ยิ่งได้ประโยชน์เร็วขึ้น ก็จะยิ่งสร้างเม็ดเงินทำให้มูลค่าหรือตัวเลขการส่งออกเพิ่มมากขึ้นได้" นายอนุชาฯ กล่าว