เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศูนย์การเรียนฯ ฝากรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลงบประมาณ แก่เด็กชายแดนห่างไกล


7 มิ.ย. 2566, 10:15



ศูนย์การเรียนฯ ฝากรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลงบประมาณ แก่เด็กชายแดนห่างไกล




วันนี้  07 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ศูนย์การเรียนวิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ – ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) เป็นสถานศึกษา ตั้งอยู่ที่บ้านสะเนพ่อง หมู่ที่ 1 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีองค์กรชุมชนบ้านสะเนพ่อง เป็นผู้จัดการศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา (ชั้นปีที่ 1-6) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 (สพม.8) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ แม้จะได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณและให้สิทธิประโยชน์ด้านการศึกษาใดๆ แก่นักเรียนในศูนย์การเรียน ตามสิทธิที่เด็กไทยควรได้รับ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาศูนย์การเรียน ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ สำหรับการบริหารจัดการศึกษามาโดยตลอด ปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนชั้น ม.1-6 รวม 21 คน ครู 4 คน 

นายชาญชัย สังขธิติ ครูศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง เปิดเผยว่า ศูนย์การเรียนแห่งนี้ เกิดจากความต้องการของชุมชน ที่ต้องการลุกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนให้กับลูกหลาน ที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อได้ในเมือง นอกจากนั้นเด็กบางคนไม่อยากออกจากชุมชนไปอาศัยอยู่ข้างนอกระหว่างเรียน จึงได้ช่วยกันจัดตั้งศูนย์การเรียนแห่งนี้ขึ้นมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆฝ่ายตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ใช้วิธีการทอดผ้าป่าการศึกษา  รวมกับเงินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็นค่าตอบแทน ครู ค่าครุภัณฑ์ทางการศึกษา ค่าอาหารและกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐแต่อย่างใด จึงอยากเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ เงินค่ารายหัวนักเรียนในศูนย์ เหมือนที่มอบเงินอุดหนุนรายหัวให้กับสถานศึกษาทั่วไป ซึ่งศูนย์การเรียนที่มีจัดการโดยองค์กรชุมชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต่างเฝ้ารอการช่วยเหลือจากรัฐบาลใหม่ ในปีการศึกษา 2566 นี้ ศูนย์การเรียนศรีสุวรรณสะเนพ่อง มีนักเรียนทั้งหมด 21 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน ที่ด้อยโอกาสครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในเมือง

นอกจากนั้นยังมีเด็กด้อยโอกาสที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียง เช่นบ้านแม่ติ้ว บ้านโจ่คีพื่อ ไกลสุดเป็นเด็กจากบ้านจะแกที่อยู่ห่างไกลออกไปกว่า 80 กิโลเมตรติดอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งต้องมาพักอาศัยและกิน นอน อยู่กับครูที่ศูนย์การเรียน    ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวันและอาหารสำหรับเด็กบ้านไกล ที่ผ่านมาโรงเรียนและชุมชนได้ร่วมกันปลูกข้าวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำข้าวมาบริโภค

เพื่อลดค่าใช้จ่ายของศูนย์การเรียนฯ รวมทั้งช่วยกันปลูกผักสวนครัวและออกหาเก็บผักสดในชุมชนและในป่ารอบๆ ชุมชน เพื่อช่วยเหลือตัวเอง เลี้ยงปลา ไก่ไข่ ไว้เป็นอาหารกลางวัน แต่ก็ไม่เพียงพอแต่ก็ยังต้องการในเรื่องเครื่องปรุงต่างๆ  จึงแก้ไขปัญหาด้วยการขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เช่น มาม่า ปลากระป๋อง วุ้นเส้น เส้นหมี่ กุนเชียง ผักกาดดอง เครื่องครัวและอื่นๆ ตามสมควร เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งสื่อและอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์สำนักงานในการทำงานของครู แม็ก แล็ตซีน กาวลาเท็กซ์ กระดาษ A4 A3 ธรรมดา และกระดาษ A 4 แบบสี (หลายๆ สี) กระดาษร้อยปอนด์ คลิปหนีบกระดาษ เมล็ดพันธุ์ผัก อุปกรณ์การเกษตร แม่พันธุ์ปลา ไก่หรือเป็ดไข่ เป็นต้น ....ครูซา...กล่าวทิ้งท้าย

ขณะโครงการอาหารกลางวันครูและเด็กจะช่วยกันทำและคิดเมนู ภายใต้งบประมาณที่มีให้ใช้วันละ 200 บาท สำหรับเด็กนักเรียน 21 คนและครู 4 คน คิดเฉลี่ยตกคนละ 8 บาท ต่อมื้อ ครูจึงต้องใช้ผักที่ปลูกในสวนผักหรือผักที่ชาวบ้านปลูก เนื่องจากมีราคาที่ถูก ส่วนเนื้อซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านร่างกายและสมองของเด็กก็จะวนเวียนอยู่ในกลุ่มของโครงไก่ กระดูกหมู ไข่ ปลากระป๋อง เพื่อให้เพียงพอในงบประมาณ 200 บาทที่มี...น.ส.สุวันดี พุ่มไพรวัลย์ (ครูเบียร์) กล่าวทิ้งท้าย   

ด้าน ด.ชนิติพล และ ด.ช.นิตินัย (ไม่มีนามสกุล) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตนเองทั้งสองคนย้ายตามครอบครัวมาจากบ้านจะแก เนื่องจากพ่อและแม่ย้ายมาอยู่ที่บ้านสะเนพ่องเพื่อมาทำงาน ที่ตัดสินใจมาเรียนต่อทั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1)ที่นี่ เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถส่งให้เรียนต่อในตัวอำเภอสังขละบุรีได้เนื่องจากไม่มีเงิน ที่นี่เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ต้องมีชุดนักเรียน มีอาหารกลางวันให้ทาน มีอุปกรณืการเรียนให้ ที่สำคัญที่นี่สอนภาษากะเหรี่ยงให้สามารถอ่านและเขียนได้ ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น มีหลายเรื่องที่ตนเองอยากเรียนรู้ทั้งเรื่องการทอผ้า การจักสาน การทำไร่หมุนเวียน วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลายเรื่องที่นักเรียนอยากเรียนรู้ ที่สำคัญการได้มาเรียนที่นี่ร็สึกสนุกและมีความสุขทุกวัน

สำหรับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยง และสภาพท้องถิ่นของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน และเป็นการให้ชาวสะเนพ่อง ได้ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งผ่านการสืบทอด ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ความเชื่อ และเอกลักษณ์ของชุมชนให้กับลูกหลาน อีกทั้งลูกหลานยังสามารถเรียนรู้หลักสูตรขั้นพื้นฐานควบคู่ร่วมไปกับการเรียนรู้หลักสูตรของชุมชน เป็นการสอนให้ลูกหลานรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนของตนเอง ฝึกทักษะพื้นฐานการใช้ชีวิตควบคู่กับการเรียนรู้เท่าทันสังคมนอกชุมชน และได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน เพื่อสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างมีความสุข ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ มองเป็นองค์รวมจนเกิดความเข้าใจในการใช้ชีวิตเป็นไปตามความมุ่งหวังของชุมชน เกิดการร่วมมือร่วมใจในการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) มีการวางแผน การพัฒนาตรวจสอบผลการดำเนินงาน และการปรับปรุง แก้ไขงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครูจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ออกแบบและจัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามความต้องการของหลักสูตร และบริบทสถานศึกษา พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ ใช้สื่อการเรียนรู้ติดตาม และช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อพัฒนา และแก้ปัญหา ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความ มั่นใจต่อการจัดกระบวนการศึกษา และการจัดการของ ศูนย์การเรียนชุมชนศรีสุวรรณสะเนพ่อง (วิถีกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร) และยังตระหนักได้ถึงคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น และสังคมซึ่งเน้นหลักวิชาการควบคู่กับหลักการดำรงชีวิต

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.