"วิษณุ" เคลียร์ชัด! ระเบียบกักกันฯ ไม่เอื้อ "ทักษิณ" ชี้ กม.ทำมานานแล้ว แต่เพิ่งประกาศ
8 มิ.ย. 2566, 15:02
วันนี้ ( 8 มิ.ย.66 ) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน 2566 ว่าในกฎหมายไทยมีโทษอยู่ 5 อย่างคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน โดยการลงโทษแบบกักกันไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่เรียกว่า วิธีการเพื่อความปลอดภัยและไม่ใช่โทษ แต่ติดปัญหาว่าการกักกันจะใช้พื้นที่ใด กรมราชทัณฑ์จึงได้ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้ในกรณีเช่นเด็กและเยาวชน ศาลสั่งกักกันจะที่บ้านกับผู้ปกครองได้ ซึ่งหลักการมีเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่ขณะนี้มีหลายคน นำเรื่องนี้ไปโยงกับโทษ ที่นักโทษกลับเข้ามามอบตัว จะใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากถูกลงโทษ ไม่ใช่ถูกกักกัน
พร้อมชี้แจงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศระเบียบดังกล่าวออกมา มีการโยงในประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีได้ ย้ำว่าเรื่องนี้มีการตั้งมานานแล้ว แต่ไม่มีอำนาจไปปลดใครได้ และข้อสำคัญคือ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เช่นเดียวกับกรณีมีการนำเรื่องดังกล่าวโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับประเทศ กล่าวว่า อย่าเอามาโยงกัน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ประกาศนี้ควรจะออกมา 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ แต่พึ่งดำเนินการเสร็จจึงออกมาในช่วงนี้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษทางการเมือง ว่าจะนักโทษการเมือง หรือไม่ใช่นักโทษการเมืองใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด คือจะขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าขอไปแล้วถูกยก จะขออีกต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงจะขอใหม่ได้ ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว แต่หากเป็นขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาลคือ การออกพระราชกฤษฎีกามาแล้ว กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ขณะนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งอาจจะมีในปีหน้า แต่ย้ำว่าผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะต้องรับโทษก่อน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษ จะใช้เวลาเท่าไหร่แล้วแต่กระบวนการ และไม่มีเวลากำหนด เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจ แต่หากเป็นการของพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกามีเกณท์คือ รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี