"บิ๊กป้อม" หนุนแผนพัฒนากำลังคน 5 ปี เสริมความสามารถในการแข่งขัน รับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต
9 มิ.ย. 2566, 13:38
วันนี้ ( 9 มิ.ย.66 ) เวลา 10.30 น. ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ ผ่านระบบ VTC เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาแรงงานในอนาคต
โดยที่ประชุมรับทราบเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย การพัฒนาฐานข้อมูลการพัฒนาคนระดับจังหวัด ด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแปรรูปอาหาร รวมทั้งผลการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปี 2565 – 2566 รวม 2.402 ล้านคน และการจัดทำแผนพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ปี 2566 – 2570
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัดปี 2565 – 2570 โดยมีเป้าหมายพัฒนากำลังคน รวมทั้งสิ้น 12.465 ล้านคน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาแผนงานจังหวัด และเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve 11) ปี 2565 – 2570 ที่เน้นเป้าหมาย ผลิตและพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม สร้างเสริมกลไกการบูรณาการการผลิตและพัฒนาแรงงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแก้ปัญหาด้านสมรรถนะแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจัดทำเสร็จแล้ว 4 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 24,500 คน อุตสาหกรรมดิจิตอล 713,432 คน อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 357,300 คน และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งมีเป้าหมายรองรับการผลิต 298,100 คน
รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอนาคต เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องวางแผนแบบมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันวิชาชีพอย่างเป็นระบบไปพร้อมกัน โดยขอให้ลงลึกถึงข้อมูลการขาดแคลนแรงงานด้านต่าง ๆ ตามความเป็นจริง โดยเฉพาะทักษะแรงงานใหม่ในอุตสาหกรรมอนาคต โดยขอให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนและร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำหรับในระดับจังหวัด การขับเคลื่อนแผนแบบบูรณาการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ โดยขอให้ดึงและส่งเสริมสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เข้ามาร่วมสร้างทักษะคนให้ตรงกับอุตสาหกรรมที่มีในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้ขอให้ไม่ละเลยการพัฒนาทักษะแรงงานในกลุ่มผู้ต้องขังไปพร้อมกัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีงาน ซึ่งเป็นการรักษ์และลดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน นำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีขึ้นโดยรวม