เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"หมอธีระ" เตือน! โควิดยังหนัก คาดติดเชื้อกว่า 2.6 หมื่นรายต่อวัน แนะไม่สบายควรแยกตัว 7-10 วัน


13 มิ.ย. 2566, 12:09



"หมอธีระ" เตือน! โควิดยังหนัก คาดติดเชื้อกว่า 2.6 หมื่นรายต่อวัน แนะไม่สบายควรแยกตัว 7-10 วัน




นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า อัปเดตสถานการณ์และความรู้โควิด-19 "สถานการณ์ระบาดในจีน"

ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) ชี้ให้เห็นว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยลูกหลานของ XBB.x นั้นครองการระบาดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ FU.1 ดูจะเป็นตัวนำขณะนี้ 

นอกจากนี้ China Center for Disease Control and Prevention ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อ 11 มิถุนายน 2566 โดยชี้ให้เห็นว่า อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดในกลุ่มคนที่ทำการตรวจในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้นสูงมากถึง 40.7% และยังเพิ่มขึ้นเป็น 42.5% ในช่วงต้นมิถุนายนอีกด้วย 

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยมีอาการที่ไปตรวจที่สถานพยาบาลด้วยเรื่องไข้ในแต่ละวันนั้น พบว่าสถิติจาก 31 จังหวัดได้มีรายงานจำนวนสูงราว 183,000 ณ ต้นเดือนพฤษภาคม และพุ่งเป็น 360,000 คนต่อวันในช่วงกลางเดือน โดยลดลงมาเหลือ 294,000 คนต่อวันในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม คงต้องเอาใจช่วยให้สถานการณ์ระบาดในจีนดีขึ้นโดยเร็ว และหากเดินทางไปมาระหว่างประเทศ หรือใครจะเดินทางไปเรียน ไปทำงาน พฤติกรรมการป้องกันตัวย่อมมีความสำคัญยิ่ง

"Long COVID เป็นสิ่งที่ต้องระวัง"



ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา The Washington Post ได้นำเสนอบทบรรณาธิการเพื่อกระตุ้นเตือนเรื่อง Long COVID ให้ทุกคนตระหนักว่าการติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้จบแค่เป็นแล้วหาย

แต่การติดเชื้อในคนจำนวนมากทั่วโลกนั้น กลับส่งผลให้เกิดปัญหาความผิดปกติระยะยาวได้ในทุกระบบของร่างกาย และเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว ระบบงานของประเทศ และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย 

โดยในวันที่ 21-22 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ทาง National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine จะมีการจัดประชุมเรื่อง Long COVID นี้ในรูปแบบ Hybrid หากใครสนใจสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุมได้ที่

https://events.nationalacademies.org/39635_06-2023...

"ปัจจัยทำนายจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในแต่ละประเทศ"

วารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ได้เผยแพร่ผลการศึกษาจากข้อมูล 152 ประเทศทั่วโลก โดยหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับจำนวนการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในแต่ละประเทศ

หลายปัจจัย เป็นสิ่งที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น การติดเชื้อในกลุ่มคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปี หากประเทศใดมีสัดส่วนประชากรกลุ่มนี้ติดกันมาก ก็จะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตมาก รวมถึงจำนวนเคสต่อประชากร 100,000 คน แปลว่า ยิ่งติดมาก ยิ่งมีโอกาสที่จะมีจำนวนคนเสียชีวิตมาก

ที่น่าสนใจคือ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า หากประเทศใดมีคะแนนดัชนีการรับรู้เรื่องคอรัปชั่นยิ่งน้อย ก็จะมีโอกาสที่จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเช่นกัน โดยประเมินดู Corruption Perception Index (CPI)

คะแนน CPI เต็ม 100 คะแนน ยิ่งได้คะแนนมาก แปลว่าดี แต่ยิ่งคะแนนน้อย ก็แปลว่าอาจมีปัญหา

ซึ่งหากวิเคราะห์กันตามหลักเหตุผล เรื่อง CPI ก็ย่อมสัมพันธ์กับเรื่องการจัดการโรคระบาดได้ ทั้งในเรื่องคน เงิน ของ วิธีการจัดการ จัดซื้อจัดหา และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อแต่ละประเทศในการตอบสนอง รับมือกับปัญหาโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการควบคุมป้องกันโรค ยา วัคซีน อุปกรณ์ป้องกัน ชุดตรวจ เป็นต้น

สำหรับไทยเรานั้น การระบาดยังมีมากในแต่ละวัน สถิติรายสัปดาห์ล่าสุด 4-10 มิ.ย. 2566 จำนวนป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล...2,709 ราย ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 12.18% แต่สูงกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 14.98% หรือ 1.15 เท่า

จำนวนเสียชีวิต...69 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 1.47% หรือ 1.01 เท่า แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 213.63% หรือ 3.14 เท่า "คาดประมาณติดใหม่รายวันอย่างน้อย 19,350-26,875 คน"


อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขในระบบจะน้อยกว่าสถานการณ์จริง ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน ไม่สบาย ควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วันจนไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ แสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก

ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย

ป้องกันตัวไม่ให้ติด หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.