ชื่นชม ผอ.รร.บ้านชุมโค ขวางนายทุนฮุบไม้หวงห้ามใน รร. เตรียมปรับเป็นจุดเรียนรู้ "พฤกษศาสตร์"
16 มิ.ย. 2566, 14:05
วันที่ 16 มิถุนายน 66 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีขบวนการค้าไม้ห่วงห้าม ซึ่งมีอดีตข้าราชการกรมป่าไม้ รายหนึ่ง ร่วมกับ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ไม่พอใจ ผอ.รร.บ้านชุมโค ที่ปฏิเสธ ไม่ยอมขายไม้พะยูง ให้ จึงพยายามเข้าหาคนใหญ่คนโตของจังหวัดมากดดันเพื่อให้ ผอ.รร.ยอมขายให้ จึงเดินทางไปตรวจสอบ
พบว่าโรงเรียนบ้านชุมโค ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ ม.3 บ้านหน้าถ้ำ ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร ตั้งอยู่ห่างถนนสายเทศบาลปะทิว-บ้านคลองวังช้าง เพียง 200 เมตร เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน จำนวน 90 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 มีเนื้อที่ จำนวน 14 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน สถานที่ประกอบการเรียน อาคารและสนามหญ้า จำนวน 10 ไร่ ส่วนอีก 4 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกป่าธรรมชาติหลากหลายชนิด โดยเฉพาะไม้ห่วงห้าม ประเภท ก.มีทั้งต้นกันเกรา ต้นตะเคียน ต้นกระถินณรงค์ และต้นพะยูงหรือ ต้นไม้พยุง เป็นต้นไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล ขบวนการ ค้าไม้ห่วงห้าม มีความต้องการที่จะได้มาเพื่อตัดไปส่งขายยังประเทศจีน ซึ่งต้นไม้พะยูง ของโรงเรียนบ้านชุมโค มีอยู่ถึง 20 ต้น
นายเอกชัย รัตนพงศ์ อายุ 43 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชุมโค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่ที่ตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านชุมโคแห่งนี้ก็มีนายทุนกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะเข้ามาติดต่อขอซื้อไม้พะยูงที่ปลูกตั้งแต่ปี 2532ซึ่งตนเองก็ได้ประชุมคณะกรรมการโรงเรียนและนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในที่ประชุม ซึ่งคณะกรรมการทุกท่านต่างก็เห็นดีด้วย โดยมองว่าหากขายไม้พะยูงที่มีอยู่ได้นั้น ก็จะนำเงินดังกล่าวมาปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป เนื่องจากต้นไม้ที่ปลูกอยู่นั้น ในช่วงฤดูฝนบางครั้งก็จะล้มลงมาทับสายไฟของชาวบ้าน ก็ต้องให้การไฟฟ้ามาช่วยตัดและนำไม้มาใช้ประโยชน์ในโรงเรียน และในที่ประชุมได้มีการบันทึกไว้ว่าจะต้องศึกษาข้อมูลเรื่องการตัดไม้พะยูงให้ชัดเจนเนื่องจาก ไม้พะยูงเป็นไม้ห่วงห้าม และเมื่อมีการกลับมาศึกษาข้อมูลในเรื่องการตัดไม้รวมไปถึงการขายไม้ในโรงเรียนนั้นมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง ซึ่งพื้นที่โรงเรียนเป็นที่ดินราชพัสดุ ไม่ได้เป็นที่ดินที่มีเป็นโฉนดเพราะฉะนั้น เมื่อมีการขายไม้แล้วได้เงินมา เงินทั้งหมดก็จะต้องเอาเข้าไปอยู่ในกองคลังราชพัสดุ โรงเรียนไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้ยุติเรื่องการตัดต้นไม้ขายไว้
แต่ทางกลุ่มนายทุนที่ยังมองว่าต้นไม้พะยูงนั้นสามารถ นำไปขายแล้วตนเองได้ประโยชน์เพราะกลุ่มนายทุนรู้ว่าต้นไม้พะยูงนั้นมีมูลค่านับล้านบาท ก็ยังพยายามที่จะเข้ามาขอซื้อไม้ที่โรงเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี โดยได้เข้ามาคุยเรื่องการขออนุญาตตัด ขั้นตอนต่างๆ โดยบอกกับตนเองว่าทางกลุ่มนายทุนจะเป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด รวมไปถึงไปยื่นหนังสือเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยเอกสารทั้งหมดนั้นก็เป็นเอกสารที่ฝ่ายนายทุนได้ประโยชน์ มีการติดต่อไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขอพบผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาด้วยตัวเองเพื่อจะขอตัดไม้ดังกล่าว โดยอ้างว่าจะตัดไม้ทั้งหมดที่อยู่บริเวณหน้าโรงเรียนและจะขอซื้อเพียงไม้พะยูงที่มีอยู่ ส่วนไม้ที่เหลือนั้นก็จะให้ทางโรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ และยังมีการพยามยามที่จะติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ทางจังหวัด เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทางโรงเรียนยินยอมที่จะขายไม้ให้กับกลุ่มนายทุน โดยได้มีการสับเปลี่ยนบุคลลต่างๆที่อ้างว่าเป็นคนใหญ่คนโตให้เข้ามาไกล่เกลี่ย
นายเอกชัย รัตนพงศ์ ยังกล่าวต่ออีกว่าในช่วงแรกนั้นตนเองก็มีความกังวลและกดดันพอสมควร เพราะมีหลายๆคนพยามยามที่จะโทรมาคุยเรื่องพะยูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มชินและไม่อยากคุยกับคนเหล่านั้น เพราะกลุ่มนายทุนที่เข้ามานั้นก็เห็นเพียงประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของโรงเรียนแต่อย่างใด ซึ่งตนเองมองว่าไม่อยากทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ปัจจุบันหาดูได้ยากแล้วนั้นไว้ให้ลูกหลานได้ดูเพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ซึ่งในอนาคตตนเองและคณะครูที่โรงเรียนรวมไปคณะกรรมการโรงเรียนจะทำพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวนพฤกษศาสตร์เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ จะมีการติดป้ายชื่อต้นไม้ ติดคิวอาร์โค้ดเพื่อแสดงข้อมูลของต้นไม้แต่ละชนิด และจะมีการทำพิธีบวชป่าร่วมกับทางวัดทางชุมชนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับกลุ่มนายทุน ซึ่งเป็นขบวนการตัดไม้ห่วงห้าม กลุ่มนี้ มีอดีตข้าราชการของกรมป่าไม้ รายหนึ่งจะคอยกำกับและสั่งการ ซึ่งหากย้อนไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ขบวนการตัดไม้ห่วงห้ามกลุ่มนี้ ได้เข้าตัดไม้พะยูง ในพื้นที่ ม.8 บ้านช่องมุด ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร และถูกเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบและจับกุมดำเนินคดีเจ้าของสวน มาแล้วครั้งหนึ่ง