องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้รองประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการ
17 มิ.ย. 2566, 12:27
วันนี้ (17 มิถุนายน 2566) เวลา 08.30 น. ที่ โรงแรมลอฟฟ์ มาเนีย บูติค โฮเทล ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ นายชลิต มานิตยกุล รองประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมแบบบูรณาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการโรคพิษสุนัขบ้าสู่ชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานฯ ซึ่งจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องสู่ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในครั้งนี้ ได้จัดโครงการฝึกอบรมฯ ขึ้นที่จังหวัดชุมพร โดยนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครูผู้ฝึกสอนด้านสุขศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้แทนชุมชนในพื้นที่ ร่วมเข้ารับการฝึกอบรม รวมประมาณ 160 คน
จังหวัดชุมพร นับเป็นจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ ซึ่งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของการฝึกอบรมฯ ครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว ประกอบด้วย กิจกรรมการบรรยายทางวิชาการ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการใช้ Application เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในโรงเรียนและชุมชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งทางด้านวิชาการ ตลอดจนประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพรที่ผ่านมา ได้ดำเนินการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมวไปแล้ว 1,335 ตัว รวมทั้งจัดฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 194 คน อีกทั้งในปีงบประมาณ 2566 ได้มีเป้าหมายจัดโครงการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในเขตพื้นที่อำเภอสวี จำนวน 11 ตำบล ซึ่งได้ผ่านการประเมินและรับรองท้องถิ่นปลอดโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วทั้งสิ้น 6 ตำบล นับเป็นความร่วมมือในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงการบริหารจัดการแก้ปัญหาสุนัขในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างยั่นยืน ต่อไป