หอการค้าไทย ประเมินส่งออกผลไม้ปีนี้ อาจโตถึง 2-3 แสนล้านบาท
18 มิ.ย. 2566, 17:20
วันนี้ ( 18 มิ.ย.66 ) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกในปีนี้ราคาผลผลิตค่อนข้างดี ซึ่งจากรายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าเพียง 120 วัน แรกของปี (ก.พ.-พ.ค.) สามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนกว่า 4.5 แสนตัน สร้างรายได้กว่าแสนล้านบาท เกือบเท่ากับมูลค่าการส่งออกของปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า ราคาผลไม้โดยเฉพาะความต้องการทุเรียนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยหอการค้าฯ ภาคตะวันออก ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ทุกชนิดของไทยในปีนี้ อาจเติบโตถึง 2-3 แสนล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีมูลค่าถึง 1.72 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนในพื้นที่ มีความกังวลถึงความเสี่ยงของตลาดที่ปัจจุบันยังพึ่งพารายได้จากการส่งออกโดยเฉพาะจีนที่สูงถึงร้อยละ 96 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 จำเป็นต้องหาตลาดใหม่ๆ เข้ามารองรับและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว ซึ่งตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและหอการค้าตั้งเป้าขยายการส่งออกผลไม้ไทย คือตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักผลไม้และทุเรียนไทย เนื่องจากปิดความสัมพันธ์กันไปกว่า 32 ปี โดยหอการค้าฯ มีแผนที่จะประสานงานกับสถานทูตไทยในซาอุดิอาระเบียจัดกิจกรรม Durian Party เพื่อประชาสัมพันธ์และเปิดประสบการณ์ใหม่กับผลไม้ไทยที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติดี พร้อมทั้งการนำเอาสินค้าจิวเวลรี่และพลอยของภาคตะวันออกไปจัดแสดงให้กับผู้บริหารและแขกคนสำคัญของซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายตลาดอัญมณีไปยังกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงด้วย
นายสนั่น กล่าวด้วยว่า เมื่อดูข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกันกับปัจจัยอื่น ๆ พบว่าปัจจุบันพืชผลทางการเกษตรมีราคาที่ดี ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 – 30 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน โดยเฉพาะข้อกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหวังว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะสำเร็จราบรื่นและรวดเร็ว เพื่อให้การจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความต่อเนื่อง และสามารถวางนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและหนี้ครัวเรือนของประชาชนได้ทันท่วงที เพื่อลดความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีสามารถฟื้นตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้