สสจ.กาญจนบุรี ใช้มาตรการ 3-3-1 คุมเข้มไข้เลือดออก พร้อมแนะนำประชาชน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
19 มิ.ย. 2566, 13:48
วันนี้ 19 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 21,457 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีผู้ป่วย 6,488 ราย พบว่ามากกว่าถึง 3.3 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มากสุด จำนวน 7,331 ราย และเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคไข้เลือดออก สำหรับสถานการร์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวนทั้งสิ้น 173 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 20.14 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 80.65 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี, 0 - 4 ปี, 15 - 24 ปี, 25 - 34 ปี, 35 - 44 ปี,45 - 54 ปี, 65 ปี ขึ้นไป, 55 - 64 ปี อัตราป่วยเท่ากับ 73.01,30.56,29.9,22.21,8.72, 3.3, 2.35 และ 2.18 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มนักเรียน เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แยกรายอำเภอ พบว่า อำเภอที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอทองผาภูมิ จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 42 ราย รองลงมาคือ อำเภอ เมือง, อำเภอ ท่ามะกา, อำเภอ ท่าม่วง, อำเภอ ห้วยกระเจา, อำเภอ สังขละบุรี, อำเภอ ศรีสวัสดิ์, อำเภอ ด่านมะขามเตี้ย, อำเภอ เลาขวัญ, อำเภอ พนมทวน, อำเภอ บ่อพลอย, อำเภอ ไทรโยค, อำเภอ หนองปรือ, อำเภอ ต่างจังหวัด,จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ 29,28,21,11,10,8,6,6,5,3,3,1,0, ราย ตามลำดับ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ใช้ 'มาตรการ 3-3-1' คุมเข้มไข้เลือดออก คือ (เมื่อพบผู้ป่วยให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคดำเนินการลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือ SRRT ลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาด ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ร่วมกับมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ป้องกันป่วยโรคไข้เลือดออก ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ขอให้ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ
โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลําตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือประจำเดือนมากผิดปกติ ดังนั้นในช่วงนี้ หากป่วยมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หรือน้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และผู้สูงอายุ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก ห้ามรับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAID เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ส่วนเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากรับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422