กรมอนามัย แนะปชช.พื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว เหตุรอยเลื่อนสกาย
21 มิ.ย. 2566, 15:32
วันนี้ ( 21 มิ.ย.66 ) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานการเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เหตุแผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ขนาดความรุนแรง 6.0 และความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 500 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่
ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากมีความรุนแรงอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการพังทลายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ และเกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร เป็นต้น บางพื้นที่อาจมีไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดอัคคีภัย ทำให้ประชาชนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และอาจส่งผลต่อภาวะจิตใจของประชาชนที่ประสบเหตุได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมพร้อมและเอาตัวรอดจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย กรมอนามัยแนะแนวปฏิบัติด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพกรณีเกิดแผ่นดินไหว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน คือ
1) ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดเหตุให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก และเตรียมพร้อมอพยพอยู่เสมอ
2) กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้านให้หมอบลงที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่
3) กรณีเปิดแก๊สประกอบปรุงอาหาร ให้หยุดการทำกิจกรรมดังกล่าว และปิดแก๊สโดยทันที
4) กรณีอยู่ในอาคารสูง คอนโด อพาร์ทเม้นต์ ให้เตรียมอพยพ หากมีความรุนแรงต่อเนื่อง ให้รีบออกจากอาคารทันที โดยใช้ทางหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เมื่อพ้นจากอาคารให้ออกไปให้ห่างจากตัวอาคารให้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงบุคคลในบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพควรเตรียมหาทางพาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
5) ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้างที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวรุนแรง
6) กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัย ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุได้
7) เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม สามารถหยิบออกมาได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาอาการประจำตัว ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือที่ชาร์ตแบตเตอรี่เต็มอยู่เสมอ โดยเฉพาะน้ำดื่มต้องมีติดตัว
ไว้ตลอดเวลา
“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด