สั่งรื้อ ! "รีสอร์ตโขดหินเกาะเต่า" สร้างไม่ได้รับอนุญาต
26 มิ.ย. 2566, 08:55
จากการกรณีที่มีข่าวการร้องเรียนผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดย FACEBOOK ชื่อว่า ชมรม STRONG ต้านทุจริต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยการแชร์ภาพจากนักท่องเที่ยวที่ได้แชร์ลงใน Tiktok ส่วนตัว ถึงรีสอร์ตชื่อว่า Cape Shark Villas ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะเต่า ถึงการสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารและแนวเขตพื้นที่ ของรีสอร์ต ดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่นั้น
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการกับเคปชาร์ค พูล วิลล่า เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจพบก่อสร้างอาคารที่พักบนโขดหินติดริมทะเลบริการนักท่องเที่ยวและอยู่ในเขตพื้นที่ตามประการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) สั่งการเร่งด่วนให้ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการทส. นำกำลังเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับเคปชาร์ค พูล วิลล่า เกาะเต่า ท้องที่ตำบลเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กรณีก่อสร้างอาคารที่พักบนโขดหินติดริมทะเลบริการนักท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการ จ.สุราษฎร์ธานี ได้สั่งการให้ทางอ.เกาะพะงัน เทศบาลตำบลเกาะเต่า ซึ่งทางเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สั่งห้ามมิให้บุคคลใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
เบื้องต้นพบว่าพื้นที่เกาะเต่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุทั้งเกาะ โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล และจากการตรวจพบว่าบริษัท เคปชาร์ค พูล วิลล่า จำกัด เป็นผู้ครอบครองอาคารที่ตั้งเลขที่ 21/9 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้มีการขออนุญาตใช้ประโยชน์การเช่าที่ดินจากธนารักษ์ แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากทางธนารักษ์ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และตรวจสอบพบอยู่ในเขตพื้นที่ตามประกาศทส. “เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ”
ปฏิบัติการครั้งนี้นำโดย ดร.ยุทธพล พร้อมด้วยนายชีวะภาพ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ ศปก.พป. โดยหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) ชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ขยายผลดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้ประกอบการเคปชาร์ค พูล วิลล่า เกาะเต่า
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า อยู่ในเขตที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฏ.588 (เกาะเต่า) ท้องที่ตำบลเกาะเต่า และอยู่ในพื้นที่ตามประกาศทส. เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และ ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557
โดยอาคารที่พัก และสิ่งก่อสร้าง ของเคปชาร์ค พูล วิลล่า มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของหาดไปจากเดิม มีการเคลื่อนย้ายหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีการตัดแต่งหิน มีการก่อสร้างทับหาดหิน ทำให้เสียทัศนียภาพบริเวณหาด และเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชายหาดหิน (Rocky Share) เป็นลักษณะชายหาดในบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลงที่มีหินเป็นโครงสร้างหลักทางกายภาพ ซึ่งจะพบหาดหินได้ตามเกาะต่างๆ หรือตามชายฝั่งทะเลที่เชื่อมติดต่อกับภูเขา หาดหินเกิดจากการผุพังหรือการกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้เกิดซอกเล็กซอกน้อยและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เป็นอย่างดี
โดยสภาพแวดล้อมทั่วไปของหาดหิน มีลักษณะเป็นหน้าผา หรือเป็นหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตระดับต่างๆ ในแนวตั้งชัดเจน ทั้งนี้การกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตดังกล่าว มีผลมาจากปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ละอองน้ำเค็ม คลื่น และกระแสน้ำ เป็นต้น ความสำคัญของหาดหิน คือ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการ แหล่งอาหารและประมงทะเล แหล่งสมุนไพร สารผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติและยารักษาโรค แนวกำบังคลื่นลมทางธรรมชาติ ซึ่งในระบบนิเวศหาดหิน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สาหร่ายทะเล ฟองน้ำทะเล หนอนต่างๆ หอยและหมึก ดาวทะเล ปลิงทะเล เพรียง ปลากระดูกอ่อน และปลากระดูกแข็ง ซึ่งล้วนแล้วมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานี พบว่าบริเวณพื้นที่ที่มีการตรวจสอบของเคป ชาร์ค พูล วิลล่า ยังไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าของโครงการได้ยื่นขออนุญาตเช่าที่ดินตามระเบียบจากที่ราชพัสดุ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในขบวนการตรวจสอบรังวัด และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่เทศบาลเกาะเต่า พบว่าอาคารที่พักไม่ได้มีการขออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และที่แก้ไขเพิ่มเติม
คณะเจ้าหน้าที่ ได้สอบถามนางสุนิสา ลาพอร์ท ซึ่งยอมรับเป็นเจ้าของรีสอร์ตดังกล่าว ได้ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาโดยมีเอกสารที่ดินเป็น ภบท. 5 และภายหลังทางธนารักษ์ได้แจ้งว่า ที่ดินของโครงการอยู่ในเขตที่ดินในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ ให้ไปดำเนินการขอเช่าที่ดินตามระเบียบ ซึ่งทางโครงการๆก็ได้ไปยื่นขออนุญาตไว้แล้วตั้งแต่ปี 2661 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนรังวัดตรวจสอบและดำเนินการออกใบอนุญาต ซึ่งรีสอร์ตได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว ในส่วนของประกาศทส. เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตนเองไม่ทราบมาก่อนว่ามีระเบียบดังกล่าวออกมาบังคับใช้ และรีสอร์ตดังกล่าวได้ดำเนินการมาก่อนที่จะมีประกาศฉบับดังกล่าวประกาศใช้
ทางด้าน ดร.ยุทธพล ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นทางด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมฉบับดังกล่าว และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นให้เข้าใจ โดยนางสุนิสา รับทราบเข้าใจ และเสนอยินยอมที่จะเร่งรื้อถอนอาคารหลังดังกล่าวออกไป
สำหรับ พื้นที่ตามประกาศทส.เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่เกาะเต่า ประกาศขึ้นมาเป็นข้อระเบียบ กฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผล เกิดความยั่งยืนต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในมิติต่างๆ การประกาศพื้นที่ดังกล่าวจะมีกำหนดระยะเวลาเป็นช่วงเวลา เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็อาจยุติการใช้ประกาศดังกล่าว เช่นกรณีเกาะเต่ามีการประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2557 และมีการต่ออายุประกาศฉบับดังกล่าวออกไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
และนายชีวะภาพ ได้สั่งการให้นายชาญชัย กิจศักดาภาพ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญพิเศษ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าขยายผลตรวจสอบอาคารหลังดังกล่าวโดยละเอียด เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายต่อไป