เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดผลการประชุมสามฝ่าย ไทย-เมียนมา-ลาว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม


26 มิ.ย. 2566, 09:30



นายกฯ มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดผลการประชุมสามฝ่าย ไทย-เมียนมา-ลาว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม




วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำสามฝ่าย ร่วมกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อผนึกกำลังกันในการแก้ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน 
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความคืบหน้าเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยการนำผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีดังนี้ 



1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสามฝ่ายผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งทุกฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะร่วมกันขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” คือ (1) C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 (2) L (Leveraging Mechanisms) โดยส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง (3) E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ (4) A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และ (5) R (Effective Response) ตอบสนองต่อปัญหา และต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำ นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม พร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูงต่อสปป.ลาว และเมียนมา ต่อไป
 
2. กรมควบคุมมลพิษ ได้อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการจัดการเผาในที่โล่งและมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 23 - 25 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสามประเทศแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน และร่วมกันสร้างแผนปฏิบัติงานของ 3 ประเทศขึ้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมในการรับมือกับสถานการณ์มลพิษหมอกควันข้ามแดนในรูปแบบของแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสามประเทศร่วมกัน
 
3. กระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรจุประเด็นปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนไว้ในถ้อยแถลงของผู้แทนไทยในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 9 - 11 พฤษภาคม 2566 ณ ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมนำเสนอการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนด้วยยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการประชุมระดับผู้นำสามฝ่าย


“นายกรัฐมนตรีติดตามและตระหนักถึงปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและฝุ่นละออง PM 2.5 และมีเจตนารมย์ในการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมุ่งแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนมาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2550 เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และการพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าทางเกษตรที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ” นายอนุชาฯ กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.