ฮือฮา ! "น้องแต้ม" ขี่ควายเทียมเกวียนไป ร.ร. แทนจยย. ภูมิใจช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว
28 มิ.ย. 2566, 09:33
วันที่ 27 มิ.ย.66 หลังจากกรณีของสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวีดีโอของน้องนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง ขณะพากันขี่ควายเทียมเกวียนไปโรงเรียน จนกลายเป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียล ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านักเรียนที่ขี่ควายเทียมเกวียนไปเรียนเป็นนักเรียนโรงเรียนสูงเนินพิทยาคม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์
จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปยังโรงเรียนสูงเนินพิทยาคม ต.สูงเนิน อ.กระสัง ก็พบเกวียนจอดอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้กับสนามหญ้า และมีควายเพศผู้ 2 ตัวอยู่บริเวณสนามหญ้าภายในบริเวณโรงเรียน จากการสอบถามทราบว่า เจ้าของควายและเกวียนดังกล่าว คือ นายพิสิฐ เพียรจันทร์ หรือ น้องแต้ม อายุ 16 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.4 ส่วนนักเรียนที่นั่งเกวียนมาด้วยเป็นนักเรียนชั้น ม.2 แต่อยู่บ้านใกล้กันจึงขี่เกวียนมาเรียนด้วยกันเนื่องจากบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเกือบ 1 กิโลเมตร เดิมก่อนหน้านี้ก็พากันขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน แต่หลังจากนายพิสิฐ หรือแต้ม พี่ ม.4 ขี่เกวียนมาโรงเรียนน้องๆ ก็ขอติดมาด้วย
จากการสอบถามนายพิสิฐ หรือ น้องแต้ม บอกว่า ปกติครอบครัวก็ใช้วัว และควายเทียมเกวียนในชีวิตประจำวันทั้งขนข้าว ขนหญ้าอยู่แล้ว อีกทั้งตนเองก็ได้รับการฝึกฝนใช้วัว ควายเทียมเกวียนมาตั้งแต่เด็กจนเกิดความชำนาญ ปัจจุบันก็รับฝึกวัว ควายเทียมเกวียน และรับงานแห่ต่างๆ อยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้าขี่ควายเทียมเกวียนที่ใช้ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว ไปโรงเรียนแทนการขับขี่รถจักรยานยนต์ไปก็จะเป็นการประหยัดค่าน้ำมันช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะหากขี่รถจักรยานยนต์ก็จะต้องเติมน้ำมันเฉลี่ยไปกลับวันละ 20 บาท แต่ถ้าขี่ควายเทียมเกวียนไปก็ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเลยก็จะเหลือเงินเก็บวันละ 20 บาท และยังรับน้องที่บ้านใกล้กันไปด้วยอีกวันละ 3–4 คน ก็ช่วยคนอื่นประหยัดได้อีกด้วย ส่วนควายก็นำไปผูกกินหญ้าที่โรงเรียนได้ด้วย
เมื่อถามว่า อายหรือไม่ที่ขี่เกวียนมาโรงเรียน น้องแต้ม กลับบอกว่า รู้สึกภูมิใจมากกว่าที่ได้ช่วยครอบครัวแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายายด้วย และเพื่อนๆ หรือน้องๆ ที่โรงเรียนเห็นเขาก็ไม่ได้ล้อเลียนอะไรแต่กลับบอกว่าเท่มากว่า ปัจจุบันก็มีรายได้จากการฝึกวัว ควายเทียมเกวียน และรับงานแห่ต่างๆ เฉลี่ยเดือนละกว่าหมื่นบาทด้วย
ด้านนายจิรวัฒน์ ดีล้อม อาจารย์ที่ปรึกษา บอกว่า ปกติครอบครัวน้องก็มีอาชีพทำการเกษตร และรับจ้างเทียมเกวียนอยู่แล้ว ซึ่งน้องก็รับได้รับถ่ายทอดวิธีการควบคุมหรือเทียมเกวียนมาจากคุณตาจนเกิดความชำนาญ จนปัจจุบันสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง และแบ่งเบาภาระครอบครัวได้อีกด้วย และการที่น้องขี่มาโรงเรียนหรือการใช้เกวียนในชีวิตประจำวัน ยังเป็นการอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย อีกด้วยเพราะปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวัน หากไม่อนุรักษ์ไว้อนาคตก็อาจจะเห็นแต่ในพิพิธภัณฑ์ก็ได้
ขณะที่นายปาน พร้อมพูน อายุ 75 ปี ตาของน้องแต้ม บอกว่า ตนเป็นคนสอนหลานให้ใช้วัว ควายเทียม เกวียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะอยากให้หลานได้ซึมซับวิถีชีวิตดั้งเดิม จะได้อนุรักษ์สืบต่อจากตนเองเพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีใครใช้วัว หรือควายเทียมเกวียนแล้ว ในหมู่บ้านก็เหลือแค่ครอบครัวเดียวหากไม่มีใครอนุรักษ์ไว้ก็คงจะสูญหายไป ก็รู้สึกภูมิใจในตัวหลานที่สามารถใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมหารายได้เลี้ยงตัวเอง และแบ่งเบาภาระครอบครัว