พารู้จัก “บุกกาบเขียวเขาหินปูน” ผู้ต้อนรับแห่งฤดูฝน พบได้ในป่าผสมผลัดใบและป่าดิบบนเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 550−1,850 ม. จากระดับน้ำทะเล
30 มิ.ย. 2566, 17:11
ฤดูกาลมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการออกดอกและติดผลของพืชแต่ละชนิด ในการเข้าพื้นที่สำรวจเพื่อให้พบดอกหรือผลของพรรณไม้ในพื้นที่อย่างครบถ้วน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องดำเนินการสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ในวันที่ฝนต้นฤดูได้โปรยปรายลงมา แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของฤดูร้อน ทางคณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่สำรวจดอยหัวหมดอีกครั้ง ทำให้ได้พบกับผู้ต้อนรับหน้าใหม่ “บุกกาบเขียวเขาหินปูน”
ลักษณะเด่น: ไม้ล้มลุก ผลัดใบในฤดูแล้ง สูงได้ถึง 1.4 ม. มีหัวใต้ดิน ใบประกอบ 1 ใบ มี 3 ใบย่อย ดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ ชูสูงกว่าใบ ปลายมีรยางค์ยื่นพ้นหลอดกาบชัดเจน หลอดกาบรูปทรงกระบอก ยาว 2.5-5 ซม. สีเขียว โคนกาบและมีเส้นแถบสีขาว ดอกเพศผู้สีเหลืองอ่อนหรือสีม่วง ดอกเพศเมียสีเขียวเข้ม
สามารถพบได้ในป่าผสมผลัดใบและป่าดิบบนเขาหินปูน ที่ระดับความสูง 550−1,850 ม. จากระดับน้ำทะเล ตัวอย่างต้บแบบแรกถูกบันทึกโดยหมอคาร์ (A.F.G. Kerr) หมายเลข 1199 บริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ รายงานการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ในการสำรวจครั้งนี้พบบุกกาบเขียวเขาหินปูนบริเวณดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นับได้ว่าเป็นรายงานการกระจายพันธุ์ใหม่ทางภาคตะวันตกของในประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง
- Boyce, P. et al. 2012. Araceae. In: T. Santisuk and K. Larsen. (eds.), Flora of Thailand 11(2): 101-321. The Forest Herbarium, Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation, Bangkok.
- POWO. 2022. Plants of the World Online. Facilitated by the Royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet; https://powo.science.kew.org/.../urn:lsid:ipni.org:names...
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช