นายกฯ มุ่งยกระดับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ ตามข้อเสนอแนะ TIP Report 2023
4 ก.ค. 2566, 09:55
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการฝึกอบรมและเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อพัฒนาทักษะ และเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมทั้งเชื่อว่าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะจะส่งผลดีกับการดูแลแรงงานในไทย และการพิจารณารายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปีหน้า
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้การป้องกันการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อเป็นไปตามข้อเสนอแนะจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (National Referral Mechanism: NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (Trafficking Victims Protection Act: TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในส่วนของการทำงานเพื่อดูแลแรงงานไทยนั้น กระทรวงแรงงานได้ตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ศูนย์ฝึกอบรมแรงงานต่างชาติในกิจการก่อสร้าง ณ ศูนย์อบรมเทคนิคก่อสร้าง อินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบการอบรมแรงงานต่างชาติ ได้แก่ ทีมสนับสนุนการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ศูนย์จัดการความรู้กองนโยบาย สมาคมก่อสร้างแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จัดการอบรมแรงงานต่างชาติเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจ้างแรงงานต่างชาติ มาตรา 11 โดยจะมีการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างชาติเกี่ยวกับวัฒนธรรมในที่ทำงานของสาธารณรัฐเกาหลี ขั้นตอนการปรึกษาปัญหาหนักใจ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เทคนิคก่อสร้างเบื้องต้น ความปลอดภัยและอนามัยในการก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ 12 แห่งทั่วโลกที่พร้อมดูแลผลประโยชน์ในการจ้างงาน ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ และช่วยเรียกร้องสิทธิประโยชน์ กรณีลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง ดูแลแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าแรงงานคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมุ่งขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ในประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และไทยได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ ดูแล ให้ความคุ้มครองพี่น้องแรงงานไทยให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้รับสิทธิอย่างถูกต้องครบถ้วน” นายอนุชาฯ กล่าว