"รัฐบาล" ผลักดันโอกาสเพิ่มช่องทางการลงทุนผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเชื่อมโยงจุดผ่านแดน
10 ก.ค. 2566, 12:18
วันที่ 10 กรกฎาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุน พร้อมเชื่อมโยงจุดผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม 2566 และได้หารือกับภาคเอกชนไทยถึงโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนในสปป.ลาว โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมองว่า สปป.ลาว นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในธุรกิจกาแฟ เพราะสปป.ลาว เป็นแหล่งปลูกกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของสปป.ลาว ทำให้ธุรกิจคาเฟ่เติบโตสูง และ สปป.ลาว ยังมีแผนพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟให้ได้มาตรฐานสากล จึงทำให้ไทยและสปป.ลาว มีโอกาสขยายความร่วมมือกัน เพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟกัน รวมทั้งการวิจัยเชิงวิชาการ การร่วมทุน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียน เพื่อการค้ากาแฟระหว่างกัน
โอกาสนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังได้เดินทางไปสำรวจท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปยัง สปป.ลาว เพื่อขึ้นรถไฟต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งจากการหารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก ท่านาแล้ง พบว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการเมื่อปี 2564 จากที่เดิมมูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาวไปจีนอยู่ที่ 90.41 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848.41 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 2566 โดยมีสินค้าไทยที่สำคัญคือ ผลไม้ไทย ทั้งทุเรียน มะม่วง สับปะรด ลำไย และมังคุด ซึ่งได้รับความนิยมในผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้น
“รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณา โอกาส และช่องทางขยายการลงทุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลจากการวางรากฐานการพัฒนาเชื่อมโยงทางจุดผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงสร้างพื้นฐาน เริ่มเห็นเป็นผลสำเร็จแล้ว จึงเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยผ่านชายแดนต่อไปยังประเทศจีนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หวังว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทย ได้ใช้โอกาสนี้ทำตลาดเพิ่มการส่งออกผลไม้ประเภทอื่น ๆ ไปจีน รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งกรอบอาเซียน-จีน และความตกลง RCEP เพื่อขยายปริมาณและมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น” นางสาวรัชดาฯ กล่าว