ชัชชาติ ยันไม่ได้สั่งเปลี่ยนแบบก่อสร้าง "สะพานถล่ม" สั่งปิดไซต์งานไม่มีกำหนด รื้อถอนใน 3 วัน
11 ก.ค. 2566, 15:32
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา ร่วมกันแถลงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุพังถล่มขณะกำลังก่อสร้าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ว่า จากที่มีข่าวระบุว่า ทีมชัชชาติสั่งเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง ยืนยันว่าไม่มีตามที่มีข่าวระบุ ไร้สาระ จริงๆ แล้วเป็นไปตามกระบวนการก่อสร้างตามปกติ ซึ่งผู้รับเหมาก็มีการทำที่ล่าช้า ก็มีการขอเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีที่เราไปสั่งเปลี่ยนอะไร การสื่อสารอะไรขอให้ดูด้วยความถูกต้องด้วย เพราะจริงๆ แล้วถ้านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จทางออนไลน์ ก็มีความผิดทางกฎหมาย และอย่าไปสร้างความสับสนให้กับสังคม อยากขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ที่ออกมาพูด
นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจสอบสาเหตุสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน (Box Segment) วิบัติขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับทับ โครงสร้างสะพานบริเวณเสาที่ (pier) 83 และ 84 เสียหาย 1 ช่วงสะพาน ส่งผลให้ชิ้นส่วนของสะพานและ Truss กีดขวางช่องจราจรฝั่งขาเข้าทั้ง 2 ช่องจราจร คนงานชุดปฏิบัติการดึงร่วนอัดแรงและชุดปฏิบัติงานติดตั้งชิ้นส่วนสะพานได้รับบาดเจ็บ สรุปมีผู้บาดเจ็บ 13 คน และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย วิศวกรที่คุมงานก่อสร้างและคนงาน ส่วนสาเหตุของการเกิดการถล่มในครั้งนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ประสานผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้าร่วมตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย แต่การเกิดเหตุเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง
นายชัชชาติ กล่าวถึง ระยะเวลาในการเคลียร์พื้นที่เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจรให้กับประชาชนระบุว่าเบื้องต้นประมาณ 3 วัน เพื่อจะได้เปิดการจราจร ลำดับการเคลียร์ รื้อ Truss ด้านหน้า น้ำหนักประมาณ 7 ตัน 4 ชิ้น รื้อ Main Truss 2 ชุด แบ่งเป็นชุดละ 5 ชิ้น น้ำหนักประมาณ 30 ตัน ตรวจสอบโครงสร้างบล็อกอัดแรง เพื่อตรวจสอบสาเหตุและวางแผนในการรื้อถอนต่อไป