"ชัชชาติ" ออกประกาศให้ "ศูนย์ราชการฯเกียกกาย" ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ
12 ก.ค. 2566, 13:57
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการออกประกาศกรุงเทพมหานครจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะว่า ได้ออกประกาศแล้ว เป็นศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครเกียกกาย พื้นที่ไม่ได้ใหญ่มาก เป็นถนนด้านหน้า ตำรวจไปดูแล้ว คิดว่าจะรองรับได้ประมาณ เกือบ 1,000 คน ตนได้ลงนามในประกาศไปเมื่อวาน อย่างที่บอกใครอยากจะมาชุมนุมที่นี่ก็มาพักผ่อน มาคุยมาแลกเปลี่ยนก็ได้ แต่ถ้าหากจะมา 20,000 คน กทม.ก็คงจะยากต้องหาที่อื่น ซึ่งก่อนหน้ามีการประกาศไปแล้ว 7-8 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
สำหรับประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ (ฉบับที่ 2) โดยที่เป็นการสมควรกำหนดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงกำหนดให้บริเวณพื้นที่ถนน 1 ช่องจราจร และทางเท้าภายในศูนย์ราชการ เกียกกาย ฝั่งสนามเด็กเล่น พื้นที่ประมาณ 710 ตารางเมตร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต รองรับผู้ชุมนุมประมาณ 100- 200 คน โดยมีลักษณะพื้นที่และรายละเอียดตามแผนผังแนบท้ายประกาศนี้ เป็นสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้
1. ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม
2.การแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ตามข้อ 1 กระทำได้ดังต่อไปนี้
2.1 แจ้งโดยตรงต่อสำนักงานเขต
2.2 แจ้งทางโทรสาร และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร
2.3 แจ้งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต้องอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถแสดงหรือ อ้างอิงหรือเข้าถึงเพื่อนำกลับมาใช้ในภายหลังและยังคงความครบถ้วนของข้อความในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถระบุตัวผู้ส่งได้ และให้โทรศัพท์ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่โดยทันที เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของเอกสาร
ทั้งนี้ ในการแจ้งตามข้อ 2.2 และข้อ 2.3 หากเกิดกรณีที่มีข้อสงสัย สำนักงานเขตพื้นที่อาจแจ้งให้ผู้แจ้งส่งต้นฉบับเอกสารขอใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
3. ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะได้ภายในกำหนดเวลา ตามข้อ 1 ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนเริ่มการชุมนุม เพื่อให้การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วน ผู้จัดการชุมนุมจึงควรแจ้งสำนักงานเขตล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมตามความเหมาะสม
4. ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการ มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ
5. การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
6. หากสำนักงานเขตพื้นที่หรือเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตรวจพบว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อ 5 จะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ให้มีผลระหว่างวันที่ 12-21 กรกฎาคม 2566 ประกาศ ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2566