นายกฯ ย้ำ! หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ผู้ว่าฯ ดูแลพื้นที่เสี่ยงท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
14 ก.ค. 2566, 09:17
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนจากสถานการณ์ประเทศไทยมีฝนตกและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยข้อมูลกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2566 ได้แก่
(1) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่สาย และแม่จัน) จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว และเชียงกลาง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย) จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง) (2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) (3) ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) และ (4) ภาคใต้ จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง สุขสำราญ และกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เกาะลันตา คลองท่อม เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง ห้วยยอด และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) และจังหวัดนราธิวาส (อำเภอระแงะ)
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ได้เตรียมความพร้อมรับมือทุกด้านทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถปรับแผนและการปฏิบัติงานให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุขึ้น” นางสาวรัชดาฯ กล่าว