"รัฐบาล" ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มุ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนกว่า 1.9 พันล้านล้านบาท ในปี 73
20 ก.ค. 2566, 09:10
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย (Artificial Intelligence: AI) ผ่านกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา AI Thailand ซึ่งเป็นโครงการปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในภาคธุรกิจและอื่น ๆ ซึ่งสามารถเพิ่มการเชื่อมโยงทางเครือข่าย ลดค่าใช้จ่าย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดกรอบเพื่อการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายใต้ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อให้สอดรับกับโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านซอฟต์แวร์ ระบบคลาวน์ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในระบบ AI ต่าง ๆ 3. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ 30,000 คน ใน 5 ปี 4. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตั้งเป้าการพัฒนา 100 นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง สร้างแรงกระตุ้นในภาคธุรกิจและภาคสังคมกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท 5. การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งเป้ามีหน่วยงานใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ร้อยละ 10 ต่อปี หรือมากกว่า 600 ราย ใน 6 ปี
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลุ่มเป้าหมายในแผน AI Thailand ที่จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ใน 10 กลุ่มเป้าหมาย โดยในระยะที่ 1 (2565-2566) ดำเนินการ 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. การใช้งานและบริการภาครัฐ 2. เกษตรและอาหาร 3. การแพทย์และสุขภาวะ ในส่วนระยะที่ 2 (2567-2570) จะดำเนินการใน 7 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1. พลังงานและสิ่งแวดล้อม 2. การเงินและการค้า 3. โลจิสติกส์และการขนส่ง 4. ความมั่นคงและปลอดภัย 5. ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6. การศึกษา และ 7. ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินตามแผนดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยมากขึ้น สร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ในการใช้เทคโนโลยีประเภทนี้ สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านสังคม รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า แนวทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยสามารถส่งเสริมมูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนได้กว่า 1.9 พันล้านล้านบาท ในปี 2573
“นายกรัฐมนตรีตระหนักดีว่าไทยต้องก้าวอย่างเท่าทัน เพื่อเข้าถึงประโยชน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จึงได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นำมาใช้ให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบใหม่ ๆ ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยอำนวยความสะดวกของการดำเนินกิจการในหลายภาคส่วน ทั้งนี้ แผนพัฒนาได้กำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างรอบด้าน การส่งเสริมการพัฒนา การศึกษา การนำไปใช้ รวมถึง ด้านความปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สูงสุด อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดาฯ กล่าว