เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



หวั่นซ้ำรอยวิกฤติน้ำประปา สทนช ลงพื้นที่เตรียมรับมือเอลนีโญ


21 ก.ค. 2566, 16:25



หวั่นซ้ำรอยวิกฤติน้ำประปา สทนช ลงพื้นที่เตรียมรับมือเอลนีโญ




วันนี้ (20 ก.ค.66) นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดบุรีรัมย์และการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง ณ อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยเฉพาะ การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ ที่กำลังเริ่มขึ้นและอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2570 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและจะทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆลดลง

 



นายชยันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่า ค่าปกติร้อยละ 24 และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 19 สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบันของ จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 248 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 จำนวน 79 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแหล่งน้ำขนาดกลาง 1 แห่ง จาก 11 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย จากการตรวจสอบไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค แต่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในเขต 16 ตำบล 13 อำเภอ และเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ทั้ง 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์

 

 

สทนช. ได้ศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) มูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และศรีสะเกษ (บางส่วน) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพพื้นที่และปัญหาของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก โดยได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน  มีเป้าหมายให้เข้าถึงน้ำประปาทุกหมู่บ้านและชุมชนจำนวน 45,955 ครัวเรือน ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 370 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 370,000 ไร่  

 


รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วงอีกด้านหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ คือแหล่งน้ำดิบที่จะนำไปผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเมืองและใกล้เคียงรวมกว่า 35,000 ครัวเรือน จะใช้แหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 11.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 และ อ่างฯห้วยตลาด มีปริมาณน้ำ 12.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นแหล่งน้ำหลักด้านอุปโภคบริโภคที่หล่อเลี้ยงอำเภอเมืองบุรีรัมย์ 

ถึงแม้จะมีการคาดการณว่าปริมาณน้ำ จะเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ชุมชนเมืองบุรีรัมย์ก็ตาม แต่ต้องควรพึงระวัง เพราะจังหวัดบุรีรัมย์ เคยเกิดวิกฤติน้ำประปามาแล้วเมื่อปี 2562-2563 น้ำทั้งสองอ่างแห้งขอด ต้องระดมหลายหน่วยงานผันน้ำจากจุดอื่นไม่เว้นแหล่งน้ำของภาคเอกชนมาเติม

สำหรับการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน ได้มีการลงพื้นที่ติดตาม โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ณ บ้านอุบลสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ 

ซึ่งสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 5 จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66 โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและสร้างระบบกระจายน้ำ ส่งน้ำมายังโรงพยาบาลโนนสุวรรณ ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และส่งน้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยโครงการฯดังกล่าวสามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ 1.06 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี มีผู้ได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน และในอนาคตสามารถขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ได้รวมกว่า 2,000 ครัวเรือน//////////////

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.