เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 เปิดงานสมัชชาสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน


24 ก.ค. 2566, 13:26



มท.1 เปิดงานสมัชชาสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน




วันนี้ ( 24 ก.ค.66 ) เวลา 10.00 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวง มหาดไทย จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายด้านการจัดการสาธารณภัยทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงร่วมกันเสนอแนะและจัดทำนโยบายสาธารณะในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมีนายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช) รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร หน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมกว่า 600 คน เข้าร่วมงานฯ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้ง อีกทั้งยังทวีความรุนแรง ซับซ้อน และยากต่อการจัดการมากกว่าเดิม การจัดการสาธารณภัยจึงเป็นประเด็นท้าทายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการสาธารณภัย ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการรับมือสาธารณภัยผ่านความร่วมมือระดับโลก อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบการดำเนินงานเซนได กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่ “การลดความเสี่ยงเดิมและป้องกันความเสี่ยงใหม่” ร่วมกัน ในส่วนของประเทศไทยเอง นอกจากสาธารณภัยตามวงรอบฤดูกาลแล้ว ในปีนี้และ 2-3 ปีข้างหน้าก็จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปอย่างบูรณาการ เป็นระบบ มีทิศทางที่ชัดเจน และครอบคลุมทั้งวงจรการจัดการสาธารณภัย โดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้างที่สอดคล้องกับบริบทและความเสี่ยงในพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรเพื่อการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินให้ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ การฟื้นฟูอาชีพ การซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อให้เกิดการฟื้นคืนกลับที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build back better and safer) โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“สมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการสาธารณภัย เป็นเวทีระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนางานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” พลเอก อนุพงษ์กล่าว

ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า “งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา” โดยแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 -2570 ได้กำหนดให้มีการจัดสมัชชาการจัดการสาธารณภัยเพื่อใช้เป็นเวทีระดับชาติ
ที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงค้นหาทางออกในประเด็นปัญหาที่แต่ละภาคส่วนให้ความสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเสนอแนะและจัดทำนโยบายสาธารณะในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วม 
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยงานกลางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศจึงได้จัดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร หน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติทั้งของภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมกว่า 600 คน ร่วมเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกรมปภ. จะนำเอาผลที่ได้รับจากการจัดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยในครั้งนี้ไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการผลักดันให้ข้อเสนอและแนวทางที่ได้รับจากงานสมัชชาฯ ได้รับการกำหนดให้เป็นนโยบายสาธารณะด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ “การรู้รับ-ปรับตัว-ฟื้นเร็วทั่ว-อย่างยั่งยืน (Resilence)”

สำหรับงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 -25 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “Climate Change กับการตั้งรับ-ปรับตัวในการจัดการภัยพิบัติ” โดย Mr. Marco - Toscano  Rivalta, Chief of the Reginal Office for Asia and The Pacific, UNDRR ROAP และ Ms. Chinatsu Endo, Programme officer, UNDRR ROAP รวมถึงการเสวนาวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านการจัดการสาธารณภัยในหลากหลายประเด็น ได้แก่ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ สู่สังคมเท่าทันภัย ปลอดภัยอย่างยั่งยืน (DRR)” “นโยบายสาธารณะกับการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในประชาชนกลุ่มเปราะบาง” “การเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือและการฟื้นฟูจากสาธารณภัยไปสู่ความยั่งยืน” "การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน” "นวัตกรรมด้านสาธารณภัยเพื่อการติดตามและแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชน" 

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านการจัดการสาธารณภัยจากหน่วยงานภายในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงกลาโหม สภากาชาดไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) บริษัท ดับเบิลยูเอสจี จำกัด VIGOR MERGER Co.,Ltd. Dynamic Intelligence Asia Co.,Ltd และ Aero Technology Industry Co.,Ltd โดยผู้สนใจสามารถรับชมการบรรยายพิเศษและเสวนาวิชาการในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Youtube ช่อง ‘สถานีข่าวปภ.’ ช่อง 'dpm streamming' และช่อง 'DDPMNews รู้ทันภัยกับ ปภ.









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.