นายกฯ ให้โอวาท นร.ทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ย้ำประเทศชาติอยู่ได้ด้วยแกนหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
26 ก.ค. 2566, 15:43
วันนี้ ( 26 ก.ค.66 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้(26 ก.ค.66) เวลา 10.00 น. นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี นำคณะตัวแทนนักเรียน โครงการทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) และ โครงการทุนเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำนวน 16 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวให้โอวาทตัวแทนนักเรียนทุนที่เข้าพบ ซึ่งประกอบด้วยทั้งผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และจบการศึกษาแล้ว ประกอบอาชีพในภาครัฐและเอกชนหลากหลายสาขาอาชีพ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ เป็นทุนที่ยิ่งใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่เยาวชนมาเป็นเวลาเกือบ 15 ปี เป็นโอกาสที่พระราชทานแก่คนรุ่นใหม่ ทรงมุ่งหวังให้ทุกคนเติบโต มีงานทำแล้วกลับไปพัฒนาภูมิลำเนาและบ้านเกิดตัวเอง
สิ่งที่อยากฝากกับนักเรียนทุนที่เข้าพบครั้งนี้คือขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดในอดีตที่มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ช่วยให้เราคิดตัดสินใจได้ว่าอะไรไม่ดีก็ไม่ทำอีก สิ่งไหนดีเราก็สืบสานไม่เอามาขัดแย้งกัน ซึ่งจากการได้หารือแลกเปลี่ยนนักเรียนทุนทุกคนมีกระบวนการคิดที่ดี มุ่งหวังทำสิ่งที่ดีต่อประเทศ ซึ่งก็อยากให้ถ่ายทอดแนวคิดต่างๆ เหล่านี้สู่เยาวชนคนอื่นๆ ต่อไป เพื่อร่วมกันทำให้ประเทศไทยมีความรักความสามัคคีซึ่งเป็นฐานสำคัญที่จะไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ตนเองทำส่วนหนึ่ง รัฐบาลทำส่วนหนึ่งเพราะไม่มีใครจะทำคนเดียวได้ รัฐดูแลให้ทั้งหมดไม่ได้เพราะประเทศมีคน 60-70 ล้านคน จึงขอฝากประเทศชาติไว้ให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันดูแล และขอให้ระลึกเสมอว่าทั้งหมดนี้คือพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่ได้ทรงพระราชทานให้ทุกคน ขอให้นำสิ่งเหล่านี้ไปสืบสานไปสู่ครอบครัว ลูกหลาน และประเทศชาติ ทำให้ประเทศเติบโตไปข้างหน้า ซึ่งตอนนี้หลายอย่างทำสำเร็จ หลายอย่างก็มีปัญหาซึ่งต้องฟังกันและกัน ตามหลักของประชาธิปไตย แต่ก็ต้องมีกติกา มีกฎหมาย ให้เกียรติกันและกัน
“สำคัญคือประเทศไทยจะอยู่ได้ด้วยแกนหลักสำคัญคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนที่ได้รับการดูแลให้มีความสุข บ้านเมืองตอนนี้มีหลายอย่างต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง แต่สำคัญคือเราต้องมีหลักคิดที่ถูกต้อง ชอบธรรม เหมาะสม และขับเคลื่อนสังคมเราไปข้างหน้า ทำเพื่อคนอื่น คิดก่อนกว่าจะทำอะไรให้ใคร แล้วทุกอย่างจะกลับมาที่เรา เกิดเป็นกุศลตัวเราก็มีความสุข” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างการเข้าพบ ตัวแทนนักเรียนทุน ม.ท.ส. และทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นต่างๆกับนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้ขับร้องเพลง “คนดีไม่มีวันตาย” เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นายกรัฐมนตรีด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการทุน ม.ท.ศ. เกิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2552 ที่ทรงให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างโอกาสแก่เยาวชนที่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อเนื่องจนสำเร็จปริญญาตรี
ทั้งนี้ โครงการทุนฯ ม.ท.ศ. ในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2552 – 59 รุ่นที่ 1 – 8 ดำเนินการคัดเลือกโดยยึดเกณฑ์การเรียนดี ประพฤติดี และมีฐานะยากจนยากลำบาก ต่อมาในปี 2560 นับตั้งแต่รุ่นที่ 9 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีพระบรมราโชบายให้ปรับแนวคิด หลักเกณฑ์และแนวทางการให้ทุน โดยเปิดโอกาสให้กว้างขวางมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะผู้ยากจน แต่ยังคงต้องมีผลการเรียนดี ประพฤติดี พร้อมกับการปรับกระบวนการคัดเลือกให้มีการกลั่นกรองระดับภาคที่เข้มข้น และกาหนดให้นักเรียนทุนฯ ทุกคนต้องเข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพอย่างรอบด้าน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552-64 มีนักเรียนได้รับทุนพระราชทานไปแล้ว 14 รุ่น รวม 2,240 คน จากทุก จังหวัดทั่วประเทศ เงินทุนพระราชทาน จานวน 702 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้ารับทุนจะต้องผ่านการคัดเลือกตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. คณะกรรมการ ม.ท.ศ. พิจารณาอนุมัติรายชื่อนักเรียนผู้รับทุนพระราชทาน และนักเรียนทุนทุกคนจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับทุนพระราชทาน
โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2558-64 มีนักเรียนทุนฯ รุ่นที่ 1-7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ไปแล้ว 767 คน จบคณะในสายสังคมศาสตร์ มี 441 คน คิดเป็นร้อยละ 57 ส่วนใหญ่เป็นคณะครุศาสตร์ บริหารธุรกิจ บัญชี ส่วนที่จบคณะใน สายวิทยาศาสตร์ มี 326 คน หรือร้อยละ 43 ส่วนใหญ่เป็นคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิศวกรรมศาสตร์ ในจำนวนที่สำเร็จการศึกษาแล้วนั้น มีบางส่วนศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก แต่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78 มีงานทำแล้ว โดยทางานทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ที่สำคัญมีร้อยละ 66 ของผู้ได้รับทุนที่เดินทางกลับไปทำงานในจังหวัดที่รับทุน หรือภูมิลำเนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และครู
สำหรับทุนเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดขึ้นในปี 2562 ที่สำนักงาน ก.พ. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนรัฐบาล ก.พ. จำนวน 100 ทุน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และสืบสาน พระบรมราโชบายด้านการศึกษาตามโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. และปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการ ม.ท.ศ. โดยมีคณะทำงานทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ. เพื่อผู้รับทุนเฉลิมพระเกียรติฯ ปีละ 10 ทุน โดยเริ่มดำเนินการในปี 2564 เป็นปีแรก