นายกฯ ติดตามแนวทางการพัฒนามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
9 ส.ค. 2566, 15:14
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (9 สิงหาคม 2566) เวลา 10.55 น. ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ตรวจติดตามแนวทางการพัฒนามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังความก้าวหน้าและการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป้าหมาย Net Zero กับโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งโครงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ และโครงการพัฒนาบุคลากรสําหรับเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยสถาบันวิทยสิริเมธี
นางสาวทิพานันกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขับเคลื่อน EEC และ EECi รวมถึง EEC ด้านอื่น ๆ ทั้ง EECi EECh EECd EECmd และ EECa เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศส่งต่อไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน พร้อมชื่นชมสถาบันวิทยสิริเมธี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสถาบันฯ ให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพทัดเทียมสถาบันอุดมศึกษาชั้นนําระดับโลก เพื่อผลิตนักวิจัยในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เน้นพลังสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมขอบคุณที่ทุกฝ่ายที่ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลจนเกิดผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาชุมชนและประเทศไปสู่อนาคต
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของนักศึกษาสถาบันวิทยสิริเมธี เช่น เทคโนโลยีผลิตสารบำรุงพืชชีวภาพไบโอวิส (BioVis) ระบบถังสุดดี (ขยะอินทรีย์จากเศษอาหารจากโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ) จำนวน 29 สถานี 14 จังหวัด
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เป็นการดำเนินการที่สอดรับกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งในการประชุมระดับผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อปี 2564 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศของไทย พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก เพื่ออนาคตของประชาชนรุ่นหลัง และได้ให้คำมั่นในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งปรับปรุงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นร้อยละ 30-40 ภายใน ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จากเดิมร้อยละ 20 -25 นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ฉบับปรับปรุง และจัดทำ NDC Roadmap เพื่อรองรับและส่งเสริมการพัฒนาที่ยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรมคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามนโยบาย “อุตสาหกรรมสีเขียว” ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอดการดำเนินกิจการต่อไปได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง