เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ 14 ฉบับ ในการประชุมอาเซียน 3 เวที


15 ส.ค. 2566, 14:21



ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ 14 ฉบับ ในการประชุมอาเซียน 3 เวที




วันนี้ ( 15 ส.ค.66 ) ​นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ รวม 14 ฉบับ สำหรับการประชุม 3 เวที คือ 1)การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2566 2)การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2566  และ 3)การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 17 – 22 สิงหาคม 2566 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือ ทบทวน และพิจารณากำหนดแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 8 ฉบับ ดังนี้

1)ร่างแผนงานในการปรับมาตรฐานของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Roadmap of ASEAN Standard Harmonization to Support SDGs Implementation) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการปฏิบัติตามมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) และคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (IEC)] 

2.ร่างขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (Terms of Reference of ASEAN - India Trade in Goods Agreement Joint Committee : AITIGA-JC) เป็นการกำหนดขอบเขตหน้าที่และบทบาทของคณะกรรมการร่วมในการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย

3.ร่างแผนการดำเนินการสาหรับการเจรจาความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย ปี ค.ศ.2023 - 2024 (Work Plan for ASEAN - India Trade in Goods Agreement Negotiations 2023 - 2024) เป็นแผนการเจรจาความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย โดยตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาในเดือนธันวาคม 2567

4.ร่างโครงสร้างการเจรจาที่เป็นไปได้สำหรับการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย (Possible Negotiating Structure for the Review of the ASEAN - India Trade in Goods Agreement) เป็นการกำหนดองค์ประกอบของคณะเจรจา 

5.ร่างแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาและการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 2023 – 2024 (2023 - 2024 ASEAN - U.S. Trade and Investment Framework Arrangement (TIFA) and Expanded Economic Engagement (E3) Workplan) เป็นแผนดำเนินงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหรัฐที่จัดทาขึ้นทุกปี เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

6.ร่างข้อริเริ่มการออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ค.ศ.2023 – 2033 (Future Design and Action Plan for an Innovative and Sustainable ASEAN - Japan Economic Co-Creation 2023 - 2033) เป็นเอกสารข้อริเริ่มที่กำหนดทิศทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ในระยะ 10 ปี (ปี 2566 - 2576) ให้แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ในปี 2566 

7.ร่างข้อริเริ่มอาเซียน - จีนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN - China Initiative on Enhancing Cooperation on E-Commerce) เป็นเอกสารข้อริเริ่มที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาทางดิจิทัลและขยายความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน 

8.ร่างแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน - สหภาพยุโรป ปี ค.ศ. 2024 – 2025 (ASEAN - EU Trade and Investment Work Programme 2024 - 2025) เป็นแผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ระหว่างปี 2567 – 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อาเซียนและสหภาพยุโรปมีกรอบการทำงานสำหรับกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 2 – 3 กันยายน 2566  เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนประจำเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินการด้านเศรษฐกิจในภาพรวม โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 4 ฉบับ ดังนี้

1.ร่างยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Development of ASEAN Strategy for Carbon Neutrality) เป็นการกำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน และส่งเสริมการดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs) ของแต่ละประเทศสมาชิก 

2.ร่างปฏิญญารัฐมนตรีว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม (Ministerial Declaration on the Framework for ASEAN Industrial Projects Based Initiative : AIPBI ) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะร่วมกันจัดทำกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม

3.ร่างรายงานการศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Study on the ASEAN Digital Economy Framework Agreement : DEFA) เป็นการรายงานผลการศึกษา ซึ่งพบว่า การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคผ่านการสนับสนุนความร่วมมือข้ามพรมแดนและการเสริมสร้างขีดความสามารถ หากมีการจัดทำกรอบความตกลงฯ ควรมีประเด็นสำคัญบรรจุไว้ด้วย อาทิ การค้าดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล ความปลอดภัยออนไลน์และความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ 

4.ร่างกรอบสาหรับการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Framework for Negotiating the ASEAN Digital Economy Framework Agreement) เป็นการวางแนวทางการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน โดยการใช้หลักการการเจรจา การตรวจสอบ การระบุหัวข้อที่สามารถบรรจุอยู่ในความตกลงฯ 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 เป็นการประชุมระหว่างผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อปรึกษาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคมภายในกลุ่มรัฐสมาชิก พร้อมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงานของประชาคมอาเซียนและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ รวม 2 ฉบับ ดังนี้

1.ร่างแถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Leaders’ Statement on the Development of the ASEAN Digital Economy Framework Agreement : DEFA) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียน เพื่อเริ่มการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนอย่างเป็นทางการ

2.ร่างกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน (ASEAN Blue Economy Framework) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียนอย่างรอบด้านและยั่งยืน ผ่านการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากทรัพยากรทางทะเลและแหล่งน้ำเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.