เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะถก กอนช. ชง ครม.คลอด 3 มาตรการ รับมือ "เอลนีโญ"


16 ส.ค. 2566, 14:27



"บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะถก กอนช. ชง ครม.คลอด 3 มาตรการ รับมือ "เอลนีโญ"




วันนี้ ( 16 ส.ค.66 ) เวลา 10.00 น.พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดและประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม

พลเอก ประวิตร เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบพิจารณา  (ร่าง)  มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมตลอดช่วงฤดูฝนเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครม. เพื่อทราบ และให้หน่วยงานถือปฏิบัติต่อไป เพื่อทำงานในเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ทันต่อสถานการณ์ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 
มาตรการที่ 1 จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 

มาตรการที่ 2 ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 

มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ แบ่งเป็น 1.การใช้น้ำภาคการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่ อาทิ ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น 2 การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน สทนช. และทุกหน่วยงานภาครัฐ วางแผนลดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วน ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ และ 3. ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน โดยการปรับรอบเวรการส่งน้ำให้สอดรับกับปริมาณความต้องการน้ำของพื้นที่ ซึ่งจะดำเนินการในตลอดช่วงฤดูฝน ปี 2566

ด้าน นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกัน วางแผน และเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ที่ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือถึงจะจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัดตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์ปริมาตรน้ำและปริมาตรใช้การ (ณ วันที่ 1 พ.ย. 66) คาดการณ์ปริมาตรน้ำและปริมาตรน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั้งประเทศ ปริมาตรน้ำ 49,688 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การ 26,142 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำ ปี 2565  น้อยกว่า 9,711 ล้าน ลบ.ม.









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.