เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เตือนภัย ! ระวังกลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ใช้ระบบ AI เลียนเสียงเรียกค่าไถ่


16 ส.ค. 2566, 15:04



เตือนภัย ! ระวังกลโกง "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ใช้ระบบ AI เลียนเสียงเรียกค่าไถ่




กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้งเตือนภัยผู้ปกครอง อย่าหลงเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้รูปแบบพฤติการณ์เรียกค่าไถ่เสมือน โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง พร้อมส่งรูปลูกหลานไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หลอกว่าจับตัวลูกหลานไว้และเรียกค่าไถ่ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการหลอกสองชั้น

โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพ จะสุ่มโทรหานักเรียน นักศึกษาที่อยู่ตามลำพัง อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ว่ามีความผิดฐานฟอกเงิน และอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ โดยต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นบัญชีม้า จากนั้นมิจฉาชีพจะแนะนำนักศึกษาให้ย้ายหรืออกจากที่พักปัจจุบัน หลอกให้ถ่ายคลิปวิดีโอแล้วส่งให้มิจฉาชีพทางแอปพลิเคชันหรือทางโทรศัพท์ เมื่อได้คลิปหรือภาพถ่ายแล้ว ก็จะนำรูปภาพหรือเสียงของนักศึกษา ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการเลียนเสียง ส่งไปหาผู้ปกครอง สร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัว แล้วเรียกค่าไถ่อีกชั้น



จึงขอเตือนประชาชน อย่ารับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยและหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย +697 +698 ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยเด็ดขาด โดยแนวทางป้องกันสำหรับ นักเรียน นักศึกษา  

1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้า ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์

2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับ แล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (มิจฉาชีพสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)

3. หากมิจฉาชีพข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

4. หากมิจฉาชีพให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจาก ข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง

5. โหลดแอปฯ Whoscall ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที

6. หากมิจฉาชีพส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง


แนวทางป้องกันสำหรับผู้ปกครอง

1. หากมิจฉาชีพข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือโทรสายด่วน 191 หรือ 1441 และเบอร์ 081-866-3000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี

2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่ สำหรับกรณี เรียกค่าไถ่เสมือนนี้ ในต่างประเทศ เรียกว่า Virtual Kidnapping Ransom Scam หรือ fake kidnapping หรือ Kidnapping scam

หากมีข้อสงสัยท่านสามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ทาง https://pctpr.police.go.th   เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน1441 หากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสามารถแจ้งความผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.