นายกฯ ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อุโมงค์ที่ 1 สถานีรถไฟหินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
17 ส.ค. 2566, 10:57
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ส.ค.66) เวลา 08.50 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงข่ายคมนาคมระบบราง งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จช่วงมาบกะเบา - หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับการเดินทางและศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน และมีความปลอดภัย
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย
สำหรับการตรวจเยี่ยมโครงข่ายคมนาคมระบบรางครั้งนี้ จุดแรก นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ตรวจติดตามความก้าวหน้างานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ช่วงมาบกะเบา-หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งสัญญาที่ 3 เป็นงานอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 อุโมงค์ ได้แก่ อุโมงค์ที่ 1 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จ.สระบุรี มีความยาว 5.85 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นการออกแบบที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยภายในอุโมงค์มีช่องอพยพผู้โดยสารทุก ๆ ระยะ 500 เมตร ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 98.130 อุโมงค์ที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็กใหม่ จ.สระบุรี มีความยาว 650 เมตร กว้าง 11.00 เมตร สูง 7.30 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ โดยช่องอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์อื่น ๆ ทำให้มองเห็นปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และอุโมงค์ที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.4 กิโลเมตร กว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยอุโมงค์ทั้ง 3 แห่ง มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ซึ่งในอนาคตได้มีการวางแผนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เนื่องจากโดยรอบเป็นภูเขาและป่าร่มรื่น
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จากนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ขึ้นขบวนรถไฟไปยังอุโมงค์ผาเสด็จ ระยะทาง 300 เมตร เพื่อเยี่ยมชมอุโมงค์ผาเสด็จ ก่อนขึ้นขบวนรถไฟกลับไปยังบริเวณพื้นที่โครงการฯ โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีความก้าวหน้าเกิดผลสำเร็จเป็นไปแผนที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ พร้อมย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้สำหรับประชาชนและประเทศชาติ ในการพัฒนาไปสู่อนาคต ส่วนบางโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ก็ขอให้ดำเนินการต่อให้เกิดผลสำเร็จตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป
“รัฐบาลมั่นใจว่าหากโครงการฯ แล้วเสร็จจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว โดยขบวนรถโดยสาร จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 100-120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. และขบวนรถสินค้า จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนกับผู้โดยสารรถไฟ ด้วยการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถในทางคู่ใหม่บางส่วนได้ภายในปี 2567 นี้” นางสาวไตรศุลี กล่าว