นายกฯ ชื่นชม! ตัวแทนเยาวชนไทย จากการแข่งขันโครงการ “Asian Try Zero-G 2023” ไทยได้รับคัดเลือกถึง 3 โครงงาน
18 ส.ค. 2566, 09:43
วันนี้ (18 สิงหาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสามารถของตัวแทนเยาวชนไทยในการนำเสนอแนวคิด ในการแข่งขันโครงการ “Asian Try Zero-G 2023” ซึ่งจากผลการแข่งขันในปีนี้ มีโครงงานจากเยาวชนไทย 3 โครงงาน ได้รับการคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) เพื่อนำโครงงานดังกล่าวขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงต้นปี 2567 เชื่อมั่น จุดประกาย กระตุ้นการค้นคว้า เรียนรู้ และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยให้ก้าวหน้า
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของประเทศไทย ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ดำเนินการแข่งขันโครงการ“Asian Try Zero-G 2023” นี้ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Category A: Physics experiments การนำเสนอแนวคิดการทดลองทางฟิสิกส์อย่างง่าย โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีผู้ส่งโครงการเป็นจำนวน 107 เรื่อง และในส่วนของ Category B: Exercise in space เป็นการเสนอแนวคิดสำหรับการออกกำลังกายในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีผู้ส่งใบสมัครจำนวน 45 เรื่อง รวมจำนวนโครงการทั้งสิ้น 152 เรื่อง โดยในการแข่งขันครั้งนี้มีเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการจำนวน 338 คน ถือเป็นชาติที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ผลจากการแข่งขัน ทางองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ได้คัดเลือกโครงงานทั้งหมดจำนวน 16 โครงงาน จากผู้เข้าแข่งขัน 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และ ไทย โดยนายซาโตชิ ฟุรุคาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่น ได้เลือกผลงานจากทีมเยาวชนไทย จำนวน 3 โครงงาน เพื่อนำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ
โครงงานของเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ 1 เรื่องก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้า (Water spheres and electrostatic force) แรงทางไฟฟ้าจะส่งผลอย่างไรต่อลูกบอลน้ำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ จากนายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์
โครงงานที่ 2 การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Stranger things two ball on string) จาก นายณัฐภูมิ กูลเรือน นายจิรทีปต์ มะจันทร์ นางสาวฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล และ นายภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์
โครงงานที่ 3 การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Starfish exercise for microgravity) แนวคิดการออกแบบท่าการออกกำลังกายให้นักบินอวกาศสามารถออกแรงต้านภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้อย่างไร โดยศึกษาการออกกำลังกายแบบ Bodyweight จาก นางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ และนางสาววรรณวลี จันทร์งาม
ซึ่งตัวแทนเยาวชนจากทั้ง 3 โครงงานจะมีโอกาสสื่อสารกับนักบินอวกาศ พร้อมชมการถ่ายทอดสดการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติจากศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ตามเวลาจริงในช่วงการทดลองต้นปีหน้า
“นายกรัฐมนตรีชื่นชม แนวคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความสามารถของเยาวชนไทย ที่ได้ออกแบบโครงงานทางวิทยาศาสตร์ และได้รับการคัดเลือก เชื่อมั่นว่าจะเป็นการต่อยอด สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย นำไปประยุกต์ใช้จริงให้เกิดประโยชน์ในอนาคต โดยรัฐบาลดำเนินการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงทำ R&D (Research and Development) ร่วมกับหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ เพราะความเชื่อมั่นในศักยภาพเยาวชนไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้เยาวชน อย่างรอบด้าน เพื่อให้เยาวชนไทยได้ดูแลประเทศไทยในวันข้างหน้า” นางสาวรัชดาฯ กล่าว